อันตรายไหมนะ? ถ้าลูกเรานอนกรน | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

อันตรายไหมนะ? ถ้าลูกเรานอนกรน

Date : 5 February 2016

หากเอ่ยถึง “เสียงกรน” แล้ว หลายคนคงนึกรำคาญใจ บางคนก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาใกล้ตัว แท้จริงแล้ว อาการกรนของลูกเป็นสัญญาณเตือนประการหนึ่งของ “ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับในเด็ก” ซึ่งภาวะนี้จะทำให้คุณภาพการนอนหลับของเด็กต่ำลง จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ อีกทั้งยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตและปัญหาสุขภาพในระยะยาว เช่น โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ  จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ควรใส่ใจดูแลลูกอย่างใกล้ชิด

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ
ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยของการเกิดภาวะนี้ในกลุ่มเด็ก ได้แก่ ต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ในร่างกายมีขนาดโตกว่าปกติ  ภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากโรคภูมิแพ้ และภาวะอ้วนในเด็ก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกได้แก่ โครงหน้าผิดปกติ เช่น ใบหน้าแคบ คางสั้นหรือเล็ก ตลอดจนโรคทางพันธุกรรม หรือโรคทางสมองและกล้ามเนื้อที่ส่งผลต่อการหายใจ เป็นต้น

ตรวจการนอน เพื่อพร้อมรับมือ
ด้วยการตรวจ Polysomnography (PSG) เป็นระบบวินิจฉัยภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งสามารถบอกรายละเอียดทั้งรูปแบบการหายใจ ลักษณะคลื่นสมอง การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ระดับความอิ่มตัวของก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ขณะหลับ โดยนอกจากจะทำให้ทราบว่าลูกน้อยเกิดภาวะดังกล่าวหรือไม่แล้ว การตรวจ PSG ก็ยังสามารถบอกระดับความรุนแรงของโรคได้ด้วย

การรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจในเด็ก
แนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรงของโรค อายุของผู้ป่วย  และความร่วมมือของผู้ป่วยเป็นสำคัญ หากไม่รุนแรงจะเน้นการดูแลสุขมัยในการนอน ควบคุมอาหาร หรือใช้ยารับประทานและยาพ่นจมูก แต่ในบางกรณีอาจพิจารณาให้มีการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลออกตามความจำเป็น นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบอื่นๆ เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจ ชนิด non invasive ในขณะหลับ ตลอดจนการผ่าตัดแก้ไขรูปหน้าและจมูก เป็นต้น

สังเกตลูกสักนิด

  • นอนกรน นอนกระสับกระสาย หยุดหายใจขณะหลับ ตื่นนอนบ่อย
  • ปวดหัวตอนเช้า ง่วงนอนตอนกลางวัน เหงื่อออกมาก และปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ
  • การเจริญเติบโตและมีพัฒนาการช้า ผลการเรียนตกต่ำลง
  • ก้าวร้าว สมาธิสั้น ซน และปัญหาด้านพฤติกรรมอื่นๆ

“เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของลูกน้อย หากสงสัยว่าลูกมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ ควรรีบพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อพัฒนาการ สติปัญญา และจิตใจของเด็กในระยะยาว”

พญ. ศริสา ถาวรกิจ
กุมารแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล