ยาเขียว ยาไทยใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก… | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

ยาเขียว ยาไทยใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก…

Date : 5 February 2016

ยาเขียวเป็นตำรับยาไทย ตามองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้าน ที่มีการใช้กันมานานหลายทศวรรษ และเป็นตำรับที่ยังมีการผลิตขายทั่วไปตราบจนปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปในสมัยก่อนจะรู้จักวิธีการใช้ยาเขียวเป็นอย่างดี กล่าวคือ มักใช้ยาเขียวในเด็กที่เป็นไข้ออกผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส เพื่อกระทุ้งให้พิษไข้ออกมา เป็นผื่นเพิ่มขึ้น และหายได้เร็ว

ตำรับยาเขียว มีส่วนประกอบของพืชที่ใช้ส่วนของใบเป็นองค์ประกอบหลัก การที่ใช้ส่วนของใบทำให้ยามีสีค่อนข้างไปทางสีเขียว จึงทำให้เรียกกันว่า ยาเขียว และใบไม้ที่ใช้นี้ส่วนใหญ่ มีสรรพคุณ เป็นยาเย็น หอมเย็น หรือ บางชนิดมีรสขม เมื่อประกอบเป็นตำรับแล้ว จัดเป็นยาเย็น ทำให้ตำรับยาเขียวส่วนใหญ่มีสรรพคุณ ดับความร้อนของเลือดที่เป็นพิษ ( พิษในที่นี้ มีความหมายแตกต่างจากความเข้าใจในปัจจุบัน คือ ไม่ใช่สารพิษ แต่น่าจะหมายถึง ของเสียที่เกิดขึ้นในเลือดมากกว่าปกติ และร่างกายกำจัดออกไม่หมด อาจจะตรงกับ toxin หรือ oxidative stress ที่เกิดขึ้นในภาวะโรค หรือจากการติดเชื้อบางชนิด) ซึ่งตามความหมายของการแพทย์แผนไทยนั้น หมายถึงการที่เลือดมีพิษและความร้อนสูงมากจนต้องระบายทางผิวหนัง เป็นผลให้ผิวหนังเป็นผื่น หรือ ตุ่ม เช่นที่พบในไข้ออกผื่น หัด อีสุกอีใส เป็นต้น

การใช้ยาเขียวหอม บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ ควรใช้น้ำกระสายยา เพื่อช่วยละลายตัวยา ทำให้ยาออกฤทธิ์เร็วขึ้น เช่น น้ำสุกหรือน้ำดอกมะลิเป็นน้ำกระสาย เพื่อให้ยาออกฤทธิ์แรงขึ้น ด้วยเหตุว่าน้ำดอกมะลิ มีรสหอมเย็น ช่วยเสริมฤทธิ์ของยาตำรับ

ยาเขียวยังใช้เป็นยาแก้ไข้ออกผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ทั้งวิธีกินและทา โดยละลายยา ด้วยน้ำรากผักชีต้ม ในปี 2548 มีการศึกษาฤทธิ์ของยาเขียวที่มีในท้องตลาด 3 ชนิด ในการยับยั้งเชื้อไวรัส varicella zoster ที่เป็นสาเหตุของโรคอีสุก อีใส และงูสวัด ซึ่งผลปรากฏว่า ยาเขียวทั้ง 3 ชนิดไม่แสดงฤทธิ์ดังกล่าว1 อันที่จริงการใช้ยาเขียวในโรคไข้ออกผื่นในแผนไทย ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการยับยั้งเชื้อไวรัส แต่ต้องการกระทุ้งพิษที่เกิดขึ้นให้ออกมามากที่สุด ผู้ป่วยจะหายได้เร็วขึ้น ผื่นไม่หลบใน หมายถึงไม่เกิดผื่นภายใน ดังนั้นจึงมีหลายคนที่กินยาเขียวแล้วจะรู้สึกว่ามีผื่นขึ้นมากขึ้นจากเดิม  แพทย์แผนไทยจึงแนะนำให้ใช้ทั้งวิธีกินและชโลม โดยการกินจะช่วยกระทุ้งพิษภายในให้ออกมาที่ผิวหนัง และการชโลมจะช่วยลดความร้อนที่ผิวหนัง ถ้าจะเปรียบเทียบกับหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน น่าจะเป็นไปได้ที่ยาเขียวอาจออกฤทธิ์โดยลดการอักเสบ หรือ เพิ่มภูมิคุ้มกัน หรือต้านออกซิเดชัน แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุน อีกทั้งยังไม่มีการเก็บข้อมูลการใช้ยาเขียวในผู้ป่วยไข้ออกผื่น หรืออาการไข้ธรรมดา แต่การที่มีการใช้ตั้งแต่โบราณ น่าจะเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่งว่า การใช้ยาเขียวน่าจะบรรเทาอาการไข้ออกผื่นได้ไม่มากก็น้อย

เนื่องจากตำรับมีองค์ประกอบเป็นดอกไม้ 4 ชนิด ได้แก่ พิกุล บุนนาค สารภี เกสรบัวหลวง ซึ่งมีละอองเรณูผสมอยู่ ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีประวัติการแพ้ละอองเกสรดอกไม้

นอกจากนี้ยังไม่เคยมีรายงานความปลอดภัยในกลุ่มคนไข้เลือดออก อีกทั้งสมุนไพรส่วนหนึ่งมักมีรายงานการยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด หรือละลายลิ่มเลือด เช่น พรมมิ2 เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการ

สรุปได้ว่า ยาเขียวเป็นยาที่ใช้กันมานาน และเป็นมรดกทางการแพทย์แผนไทยที่ควรสืบทอด พร้อมกับศึกษาทางคลินิก หรือการรวบรวมข้อมูลการใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อไป

ยาเขียวหอม
ในผงยา 90 กรัม ประกอบด้วย ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้หมากเมีย ใบสันพร้าหอม รากแฝกหอม หัวเปราะหอม แก่นจันทน์เทศหรือแก่นจันทน์ชะมด แก่นจันทน์แดง ว่านกีบแรด ว่านร่อนทอง เนระพูสี พิษนาศน์ มหาสดำ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง หนักสิ่งละ 5 กรัม

ข้อบ่งใช้
บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ
แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและอีสุกอีใส)
ขนาดและวิธีใช้  ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ  เด็ก อายุ 6 – 12 ปี ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

 

น้ำกระสายยาที่ใช้

  • กรณีบรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ ใช้น้ำสุก หรือน้ำดอกมะลิ เป็นน้ำกระสายยา
  • กรณีแก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส ละลายน้ำรากผักชีต้ม เป็นน้ำกระสายยาทั้งรับประทาน และชโลม

หมายเหตุการชโลมใช้ยาผงละลายน้ำ 1 ต่อ 3 แล้วชโลม (ประพรม) ทั่วตามตัวบริเวณที่ตุ่มใสยังไม่แตก

ชนิดเม็ด
ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
เด็ก อายุ 6 - 12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

ข้อควรระวัง

  1. ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
  2. ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
  3. หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน ๓ วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

ข้อมูลเพิ่มเติม ทางการแพทย์แผนไทย แนะนำให้ผู้ป่วยหัด อีสุกอีใส ห้ามรับประทานอาหารทะเล ไข่ และน้ำเย็น เนื่องจากผิดสำแดง
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : รองศาสตราจารย์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล 
ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล