ยาลดความอ้วน | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

ยาลดความอ้วน

Date : 21 March 2016

โรคอ้วนหรือความอ้วนนับเป็นปัญหาสำคัญซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ กล่าวคือ พบความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอัตราการเกิดโรคและอัตราการตายจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและภาวะไขมันในเส้นเลือด ยาลดความอ้วนจะออกฤทธิ์ทำให้ผู้ป่วย สามารถต้านทานต่อความกดดันทางสรีรวิทยาคือ ความหิว และความกดดันทางด้านจิตใจคือ ความอยากอาหารได้ ซึ่งจะนำไปสู่น้ำหนักที่ลดลงและสุขภาพที่ดีขึ้น

ประเภทของยาลดความอ้วน
ยาลดความอ้วนซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางแบ่งออกตามฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาได้เป็นกลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ผ่าน catecholamine pathways ได้แก่ Amphetamine, Phenmetrazine (ในปัจจุบันยา 2 ชนิดนี้ เลิกใช้เป็นยาลดความอ้วนแล้ว), Amfepramone (Diethylpropion), Phentermine, Mazindol, Cathine (Norpseudoephedrine) และ Phenylpropanolamine ยาในกลุ่มนี้จะมีฤทธิ์กระตุ้น ระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทซิมพาเธติค
2. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ผ่าน serotonin pathways ได้แก่ Fenfluramine, Dexfenfluramine, และ Fluoxetine ยาในกลุ่มนี้จะไม่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทซิมพาเธติค

ปัจจุบันยาลดความอ้วนที่กล่าวมาข้างต้นถูกควบคุมโดยกฎหมาย 2 ฉบับ โดยพิจารณาจาก ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาเป็นหลัก ทำให้แบ่งยาลดความอ้วนออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. กลุ่มที่ถูกควบคุมโดยพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ได้แก่ Fenfluramine Dexfenfluramine, Fluoxetine และ Phenylpropanolamine
2. กลุ่มที่ถูกควบคุมโดยพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ได้แก่ Amfepramone, Phentermine, Mazindol, Cathine เป็นต้น

อันตรายจากการใช้ยาลดความอ้วนกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ฯ
เป็นเวลานานกว่า 50 ปีแล้วที่มีการนำเอา Amphetamine มาใช้เป็นยาลดความอ้วน หลังจากที่นำมาใช้ไม่นานก็มีการพัฒนาค้นพบ dextrorotatory isomer ของ Amphetamine ขึ้นมาใช้แทน ซึ่งการค้นพบครั้งหลังนี้มิใช่เป็นเพียงการค้นพบฤทธิ์ในการลดความอยากอาหารเท่านั้น แต่ยังพบฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้มมีความสุข (euphoriant properties) ดังนั้นจึงได้นำไปสู่การค้นพบสารกระตุ้นประสาท เพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดอีกหลายตัว เช่น Phenmetrazine เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นเหตุผลให้หลายประเทศเลิกใช้ amphetamine และ stereoisomer ของมันทุกตัวเป็นยาลดความอ้วน และจำกัดการใช้ในทางการแพทย์ รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ถึงแม้ว่ายาลดความอ้วนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะมีคุณสมบัติในการกระตุ้นประสาทส่วนกลางน้อยกว่า Amphetamine มากแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Amfepramone, Phentermine, Maziondol หรือ Cathine ก็ตาม แต่ทุกตัวก็จะทำให้ผู้รับประทานเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ กล่าวคือ พบอาการนอนไม่หลับกระวนกระวาย ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต็นเร็ว ปากแห้ง เหงื่อออก คลื่นไส้ ท้องผูก
อันตรายอีกประการหนึ่งของการใช้ยาลดความอ้วนกลุ่มนี้คือ การรับประทานร่วมกันกับ ยาลดความดันโลหิตซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้ง adrenergic nuerons เช่น guanethidine, debrisoquine เป็นต้น เพราะไม่เพียงแต่มันจะไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่ง norepinephine จาก adrenergic nuerns มากขึ้นแล้ว มันยังไปยับยั้งการนำเอา norepinephine กลับเข้าไปเก็บใน nuerons อีกด้วย ดังนั้นจึงทำให้ประสิทธิภาพของยาลดความดันโลหิตกลุ่มดังกล่าวลดลง หากผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องใช้ยาลดความอ้วนจึงควรหลีกเลี่ยงไปใช้ยาลดความอ้วนกลุ่มอื่น เช่น Fenfluramine หรือ Dexfen fluramine เป็นต้น ด้วยเหตุผลในการออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทซิมพาเธติคนี้เอง เป็นเหตุให้ยาลดความอ้วนกลุ่มนี้มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคต้อหินและผู้มีแนวโน้มของอาการทางจิต

การควบคุมยาลดความอ้วนกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ฯ ในประเทศไทย
กระทรวงสาธารณสุขเริ่มควบคุมยาลดความอ้วนซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 โดยออกประกาศให้ Amferpramone เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ก่อนเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้นจึงประกาศให้ Mazindol, Phenmetrazine และ Phentermine เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ในปี พ.ศ.2524, N-ethylampheramine ในปี พ.ศ.2525, Fencametamine ในปี พ.ศ.2529 ส่วน Cathine ถูกประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 ในปี พ.ศ.2529 ต่อมายาดังกล่าวทั้ง 7 ชนิด ได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ซึ่งกฎหมายระบุห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขายนำเข้าและส่งออก ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้รับมอบหมาย

ดังนั้นการกระจายยาลดความอ้วนกลุ่มดังกล่าวจึงเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี พ.ศ.2536 กล่าวคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงเป็นผู้นำสั่งผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย เพียงผู้เดียว แล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ ตามคำขอซื้อของแพทย์ผู้รับอนุญาต ยาลดความอ้วนจะถึงมือประชาชนได้ก็เฉพาะมีคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
ในทางทฤษฎี แพทย์จะต้องจัดทำรายงานการสั่งจ่ายยาแก่ผู้ป่วยและรายงานยอดคงเหลือ ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทราบทุกครั้งก่อนการซื้อยาครั้งต่อไป ทำให้การควบคุมยาลดความอ้วนกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ฯ ในปัจจุบันเป็นไปแบบครบวงจร

แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่นอนว่าแพทย์ผู้รับอนุญาตทุกคนจะได้มีการดูแล ควบคุมการใช้ยาลดความอ้วนกลุ่มนี้ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดหรือไม่ และในส่วนของสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยาเองก็ไม่ได้มีมาตรการใดๆ ที่จะทำให้ทราบถึงการปฏิบัติอันไม่ถูกต้อง ของสถานพยาบาลต่างๆ ที่สำนักงานฯขออนุญาตให้มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครอง


นิตยสารใกล้หมอปีที่ 24 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2543 หน้า 104-106
ผู้แต่ง: นิตยสารใกล้หมอปีที่ 24 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2543 - dmhstaff@dmhthai.com - 24/4/2008
http://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1060