ดื่มเหล้าหนักทำลาย "ตับ" ไม่รู้ตัว | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

ดื่มเหล้าหนักทำลาย "ตับ" ไม่รู้ตัว

Date : 15 July 2016

ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภาพจาก : pixabay.com

หมอเตือนนักดื่มตรวจค่า “เอนไซม์ตับ” ชี้เกิน 35 IU เท่ากับตับถูกทำลาย งานวิจัยชี้คนไม่รู้ตัวตับถูกทำลาย เหตุไม่มีอาการเจ็บบ่งบอก สุดท้ายเซลล์ตับเหลือน้อย จนตับแข็ง ตับวาย แนะอาศัยงดเหล้าครบพรรษา 3 เดือน ช่วยพักตับให้ฟื้นฟู

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลน่าน กล่าวว่า ตับมีหน้าที่กำจัดของเสีย สารพิษต่าง ๆ ในร่างกายที่ได้รับเข้ามา รวมไปถึงพิษจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ซึ่งปริมาณที่ตับสามารถกำจัดพิษจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ คือ 1. ดื่มมาตรฐานต่อวัน เท่ากับ เหล้าแดง 2 ฝา หรือ เหล้าขาว 2 เป๊ก หรือเบียร์ 1 กระป๋อง แต่ในความเป็นจริงคนไทยดื่มต่อวันมากกว่านี้ ซึ่งเมื่อพิษจากสุรามีมากเกินกว่าที่ตับจะทำลายได้ พิษนั้นก็ทำลายเซลล์ตับเสียเอง ดังนั้น การดื่มเหล้ามาก ๆ เท่ากับว่า เป็นการทำลายตับ แต่ที่คนเรามักไม่รู้ตัวว่าตับถูกทำลาย เพราะไม่มีอาการบ่งบอก เนื่องจากเซลล์ตับเป็นเซลล์พิเศษเหมือนไตและปอด คือ ธรรมชาติสร้างเผื่อไว้ถึง 3 เท่า เพื่อสำรองไว้ใช้ในยามแก่ แม้ตับจะฉีกหายไปครึ่งหนึ่ง ก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่การดื่มเหล้าเป็นการทำลายเซลล์สำรองเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ โดยจะทำลายไปทีละน้อย จนกระทั่งเซลล์ตับเหลือน้อยกว่า 40% จึงจะเริ่มมีอาการและถ้าน้อยกว่า 25% ตับจึงจะวาย

“การตรวจค่าเอนไซม์ตับ สามารถช่วยให้รู้ได้ว่าตับถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด เนื่องจากเมื่อตับได้รับบาดเจ็บ หรือถูกทำลาย จะมีเอนไซม์ตับรั่วออกมาในกระแสเลือด ซึ่งมีทั้งหมด 4 ตัว คือ AST ALT GGT และ ALP ทั้งนี้ ปกติในเลือดจะตรวจพบเอนไซม์ตับ AST และ ALT อยู่แล้ว โดยค่าปกติที่ตรวจพบ คือ ไม่เกิน 35 IU ดังนั้น หากเจาะเลือดตรวจเอนไซม์ตับแล้ว พบว่า ค่าเกิน 35 IU บางคนพุ่งไปถึง 100 กว่า IU แสดงว่า คน ๆ นั้น เซลล์ตับกำลังถูกทำลาย ซึ่งการตรวจเอนไซม์ตับ ถือเป็นข้อดีที่จะมาช่วยรณรงค์งดเหล้า เลิกเหล้าได้ เพราะช่วยให้คนที่ดื่มเหล้ารู้สภาพตับของตัวเองว่าถูกทำลายอยู่หรือไม่ เนื่องจากสาเหตุที่คนยังดื่มเหล้า เพราะมองว่าร่างกายยังแข็งแรงดีไม่มีปัญหา” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า จากการตรวจค่าเอนไซม์ตับของคนทำงานในสถานประกอบการจังหวัดน่าน ที่มีสุขภาพปกติ จำนวน 3,752 คน อายุ 17 - 65 ปี ระหว่างปี 2556 - 2558 พบว่า ผู้ชายมีค่าเอนไซม์ตับมากกว่า 35 IU 840 คน คิดเป็น 33.6% ส่วนผู้หญิงพบ 59 คน คิดเป็น 4.7% เท่ากับว่า ผู้ชายวัยทำงานเอนไซม์ตับผิดปกติมากกว่าผู้หญิงถึง 7 เท่า ที่สำคัญคือ บุคคลกลุ่มนี้ไม่รู้ตัวว่าอนาคตจะมีความเสี่ยงต่อภาวะตับแข็ง แต่เมื่อรู้ว่ามีความเสี่ยงและบุคลากรทางการแพทย์อธิบายให้เข้าใจถึงความเสี่ยงทางสุขภาพ พบว่า 60% ยินดีที่จะเข้าระบบการรักษาเพื่อปรับพฤติกรรม คือ ลดละเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

โดยส่วนใหญ่พบว่า ปรับพฤติกรรมแล้วสภาพตับนั้นดีขึ้น ซึ่งความเร็วในการฟื้นฟูตับนั้นอยู่ที่ร่างกายแต่ละ สุขภาพ ปริมาณการดื่ม และความรุนแรงที่ตับถูกทำลายด้วย แต่โดยเฉลี่ยที่ตับจะดีขึ้น คือ 3 เดือน ดังนั้น การรณรงค์งดเหล้าครบพรรษา 3 เดือนของ สสส. นั้น หากทำได้ก็ถือว่าจะช่วยให้ตับได้ฟื้นฟู จนค่าเอนไซม์ตับกลับมาเป็นปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่า เซลล์ตับจะกลับมามีปริมาณเท่าเดิม เพราะถูกทำลายไปแล้ว เพียงแต่ป้องกันไม่ให้เซลล์ตับถูกทำลายไปมากกว่านี้