อาหารปลอดภัย ไร้ยาปฏิชีวนะ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

อาหารปลอดภัย ไร้ยาปฏิชีวนะ

Date : 19 February 2024

ข้อมูลจาก : ยาวิพากษ์ จดหมายข่าวศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังระบบยา : สื่อกลางข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวปัญหายาเพื่อการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาของไทย
ภาพจาก : pixabay.com

ปัจจุบันการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์เป็นที่แพร่หลายมากในหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดปัญหาจุลินทรีย์ดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก ยาปฏิชีวนะ ว่าคืออะไร และมีโทษอย่างไรหากเราได้รับสารเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย

อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เนื้อบางแห่งใช้ ‘ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อแบคทีเรีย’ ในวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสัตว์ในยามเจ็บป่วย รวมไปถึงแอบใช้เพื่อเร่งการเติบโตของสัตว์ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียบางชนิดในสัตว์ถูกทำลายไปได้ แต่บางชนิดนอกจากจะรอดแล้ว ยังข้ามสายพันธุ์ได้อีกด้วย

ซึ่งเชื้อที่รอดนี้จะแฝงอยู่ในมูลสัตว์ที่เอาไปทำเป็นปุ๋ย เนื้อสัตว์ที่เรารับประทาน และตกค้างในสิ่งแวดล้อม หากเรารับประทานเนื้อสัตว์หรือผักเหล่านั้นเข้าไปสะสมในร่างกายมากๆ เมื่อร่างกายอ่อนแอ ก็จะมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้ง่าย ซึ่งในขณะนี้โรงพยาบาลอาจมียาต้านแบคทีเรียเหลือเพียงไม่กี่ชนิดที่รักษาได้ผล ถ้าเกิดโรคลุกลามรุนแรงขึ้น ยาต้านเชื้อแบคทีเรียรักษาไม่ได้จะส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด

ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การสุขภาพสัตว์โลก ต่างออกมาเรียกร้องให้มีการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ รวมไปถึงลด ละ เลิกใช้ยาปฏิชีวนะในการกระบวนการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร  เพราะเป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อและการเจ็บป่วยเล็กน้อยซึ่งเคยรักษาได้ในอดีต

เพราะในรายงานการทบทวนวรรณกรรมของรัฐบาลสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่ามีผู้เสียชีวิตจากการดื้อยาทั่วโลกถึง 700,000 รายต่อปี และในส่วนประเทศไทยมีรายงานในวารสารวิจัยระบบสาธารสุขเมื่อปี พ.ศ. 2555 และบทความของสำนักงานสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทยมีการเจ็บป่วย เพราะอาการติดเชื้อกว่า 100,000 คนต่อปี และเสียชีวิตถึง 38,481 รายต่อปี ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล

ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญในเรื่องเชื้อดื้อยา ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-64 โดยตั้งเป้าหมายลดการป่วยเชื้อดื้อยาให้ได้ 50% ลดการใช้ยาต้านแบคทีเรียในคน 20% และในสัตว์ 30% ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยใช้ 6 ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ได้แก่

1.ระบบข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา ทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

2.ควบคุมการกระจายของยาปฏิชีวนะ

3.ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในสถานพยาบาลและร้านยา

4.ป้องกันควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง 5.สร้างความตระหนักรู้ของประชาชน

6.พัฒนากลไกการจัดการแบบบูรณาการ