มะเร็งเม็ดเลือดขาว | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

มะเร็งเม็ดเลือดขาว

Date : 11 July 2017

ข้อมูลจาก : ข้อมูลจาก อาจารย์ แพทย์หญิงลลิตา นรเศรษฐ์ธาดา หน่วยโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย

มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลิวคีเมีย (Leukemia) เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (hematopoietic stem cell) ในไขกระดูก ทำให้มีการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวในไขกระดูกอย่างผิดปกติเป็นจำนวนมากและควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดการสะสมของเม็ดเลือดขาวจนเต็มไขกระดูก แล้วปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้มีปริมาณเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดสูงขึ้นผิดปกติ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามการดำเนินโรคได้แก่

1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน เป็นโรคที่มีการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดลดลง ผู้ป่วยจึงมีอาการผิดปกติในระยะเวลา 1-2 เดือน อาการที่มักพบได้แก่อาการอ่อนเพลีย ซีดลงจากภาวะโลหิตจาง มีไข้เนื่องจากการติดเชื้อเนื่องจากเม็ดเลือดขาวตัวแก่ที่มีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อมีปริมาณลดลง และเลือดออกง่ายโดยเฉพาะตามเยื่อบุต่าง ๆ เนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ

2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง เป็นโรคที่มีการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวอย่างผิดปกติ แต่ยังสามารถเจริญเติบโตเป็นเม็ดเลือดขาวตัวแก่ได้ ทำให้อาการของโรคค่อยเป็นค่อยไป โดยในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการ จนกระทั่งปริมาณเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดสูงขึ้นมาก จนทำให้ซีดหรือโลหิตจาง หรือไปสะสมในม้ามทำให้ม้ามโต ทำให้อืดท้องหรือคลำได้ก้อนในท้อง และบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลดได้

สาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่ามีปัจจัยต่าง ๆ ที่เชื่อว่ามีบทบาทสำคัญต่อการเกิดโรคนี้ได้แก่
1.พันธุกรรม พบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้จะพบได้สูงกว่าที่อเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก แต่พบได้น้อยกว่าในเอเชียและลาติน อเมริกา นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้มากกว่าประชากรทั่วไป
2. สารรังสี จากการศึกษาประชากรญี่ปุ่นที่รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พบว่ามีอัตราการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากกว่าคนปกติถึง 30 เท่า
3. สารเคมี การได้รับสารเคมีบางอย่างเป็นเวลานาน จะมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้สูงขึ้น เช่นผู้ที่ทำงานในโรงงานฟอกหนัง ทำสี และผู้ที่ได้รับสารเบนซีน รวมถึงผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับน้ำมัน ถ่านหิน ยาฆ่าแมลง ยาย้อมผม หรือสเปรย์ฉีดผม ก็พบว่ามีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้สูงขึ้นเช่นกัน
4. ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นมาก่อน พบมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้สูงขึ้นหลังการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดนาน 2-10 ปี
5. ปัจจัยอื่น ๆ โรคของไขกระดูกบางโรคนำมาก่อน เช่น โรคไขกระดูกทำงานผิดปกติหรือไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น โดยพบมะเร็งเม็ดเลือดขาวตามมาได้ ทั้งในผู้ที่เคยและไม่เคยได้รับการรักษามาก่อน

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่พบปัจจัยที่ก่อโรคชัดเจน จึงทำให้ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แน่ชัดของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดไมอีลอยด์ (Chronic myeloid leukemia; CML)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมฟอยด์ (Chronic lymphocytic leukemia; CLL)

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง
มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดไมอีลอยด์ หรือ CML จะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมจำเพาะได้แก่ ฟิลลาเดลเฟียโครโมโซม (Philadelphia chromosome) ซึ่งปัจจุบันมียารับประทานที่ออกฤทธิ์มุ่งเป้าในการยับยั้งเฉพาะเซลล์มะเร็งที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมดังกล่าว ทำให้สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผลข้างเคียงน้อยมากไม่มีผมร่วง อ่อนเพลียหรือคลื่นไส้อาเจียน ต่างจากการใช้ยาเคมีบำบัดทั่วไป

ในผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาดีจะสามารถมีอายุไขยืนยาว และคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่ยานี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดจากโรคได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องรับประทานยาในระยะยาว
ในขณะนี้เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ผู้ป่วย CML ในประเทศไทย สามารถได้รับการรักษาด้วยยารักษามุ่งเป้าชนิดรับประทานได้ทุกสิทธิการรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงทำให้
อัตราการรอดชีวิตจากโรคนี้ดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ส่วนมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมฟอยด์ หรือ CLL เป็นโรคเรื้อรังแม้ไม่หายขาดแต่โรคไม่รุนแรง และมักไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต หากไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องให้การรักษา หากจำเป็นต้องรักษาจะให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดโดยสามารถให้ได้ทั้งแบบรับประทานและแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และอาจให้ร่วมกับโปรตีนที่มีความจำเพาะในการทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ได้อีกด้วย