โรคหวัดภูมิแพ้ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคหวัดภูมิแพ้

Date : 16 September 2015
มีอาการเป็นหวัดคัดจมูก จามบ่อย น้ำมูกมีลักษณะใสๆ มักมีอาการคันจมูก คันคอ คันตา น้ำตาไหล แสบคอ หรือไอแห้ง (แบบระคายคอ) ร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการปวดตื้อตรงบริเวณหน้าผาก หรือหัวคิ้ว อาการมักเกิดประจำตอนเช้าๆ หรือเวลาถูกอากาศเย็น ฝุ่นละออง หรือสารแพ้อื่นๆ บางรายจะเป็นตอนช่วงเช้าๆ พอสายๆ ก็หายได้เอง บางรายอาจมีอาการเป็นประจำตลอดทั้งปี บางรายอาจเป็นมากในบางฤดูกาล ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการหายใจดังวี้ดคล้ายหืด
 
การดำเนินโรค
 
โรคนี้มักจะมีอาการเป็นๆ หายๆ อยู่ประจำตราบเท่าที่ยังสัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ เมื่อใช้ยาแก้แพ้ ก็จะระงับอาการไปได้ชั่วคราว เมื่อหยุดยาก็จะกำเริบใหม่
 
ภาวะแทรกซ้อน
 
โดยทั่วไปมักไม่มีโรคแทรกซ้อนร้ายแรง ในรายที่เป็นเรื้อรังนานๆ อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียในไซนัส (โพรงจมูก) กลายเป็นโรคไซนัสอักเสบได้ บางรายอาจเป็นติ่งเนื้อเมือกจมูก (ริดสีดวงจมูก) คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ต้องระมัดระวังในการใช้ยาต่างๆ เพราะอาจแพ้ยาได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ดังนั้นเวลาไม่สบายด้วยอาการต่างๆ ต้องพยายามใช้ยาให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
 
การแยกโรค
 
อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น
 
  1. ไข้หวัด ผู้ป่วยมักจะมีอาการตัวร้อน ปวดเมื่อย อ่อนเพลียร่วมด้วย ในผู้ใหญ่มักจะนานๆ (เช่น 1-2 ปี) เป็นหนหนึ่ง แต่ถ้าในเด็กเล็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเข้าเรียนหนังสือใหม่ๆ (3-4 เดือนแรก) ก็อาจมีกำเริบได้บ่อย ข้อแตกต่างระหว่างหวัดภูมิแพ้กับไข้หวัด ก็คือ หวัดภูมิแพ้มักจะไม่มีไข้ ไม่ปวดเมื่อย ไม่อ่อนเพลีย แต่จะมีอาการจาม คันคอ คันจมูกร่วมด้วย และจะพบว่ามีอาการกำเริบเป็นประจำทุกครั้งที่สัมผัสถูกสิ่งที่แพ้
  2. ไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการตัวร้อนแบบไข้หวัด แต่จะมีอาการปวดเมื่อยมาก เบื่ออาหาร ทั้งไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส การรักษาก็เพียงแต่ให้ยาบรรเทาอาการ ก็มักจะหายได้เอง
  3. ไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหน่วงตรงหัวคิ้ว หรือบริเวณโหนกแก้ม (ใต้ตา) น้ำมูกมีลักษณะ ข้นเหลืองหรือเขียว และอาจหายใจมีกลิ่นเหม็น โรคนี้อาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัด หรือหวัดภูมิแพ้ได้ บางคนอาจกำเริบซ้ำซากเวลาเป็นหวัดคัดจมูก ดำน้ำ หรือนั่งเครื่องบิน โรคนี้จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ และถ้าเป็นรุนแรง อาจจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด
  4. ริดสีดวงจมูก (ติ่งเนื้อเมือกจมูก หรือ nasal polyps) ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูกตลอดเวลาเป็นแรมเดือนแรมปี เมื่อใช้ไฟฉายส่องเข้าไปในรูจมูก อาจมองเห็นก้อนเนื้อสีขาวอุดกั้นอยู่ในรูจมูก หากสงสัยควรไปพบแพทย์เพื่อผ่าตัดเอาติ่งเนื้อออก
  5. ผนังกั้นจมูกคด ผนังกั้นกลางระหว่างรูจมูก 2 ข้างของคนบางคนอาจมีลักษณะคดงอ ซึ่งมักจะเป็นมาแต่กำเนิด หรือเกิดจากการได้รับบาดเจ็บในภายหลังก็ได้ ถ้าคดงอมาก ก็อาจทำให้มีอาการคัดแน่นจมูกคล้ายริดสีดวงจมูกได้ หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีอาการน่ารำคาญหรือทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบแทรกซ้อนบ่อยๆ ก็อาจจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด
  6. มะเร็งจมูกและมะเร็งโพรงหลังจมูก ผู้ป่วยจะมีอาการคัดแน่นจมูกเรื้อรังคล้ายริดสีดวงจมูก อาจมีเลือดกำเดาไหล เสียงแหบ หูอื้อ และอาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองโตเป็นก้อนแข็งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 เซนติเมตร ที่บริเวณข้างคอ หากสงสัยควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด

ขอบคุณข้อมูลจาก  : นิตยสารหมอชาวบ้าน  เล่มที่  297