โรคมือ เท้า ปากในเด็ก | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคมือ เท้า ปากในเด็ก

Date : 19 September 2015
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พ่อแม่จะต้องระวังให้มาก เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้านและในโรงเรียน และอาการของโรคมือ เท้า ปากก็คล้ายกับโรคหวัดจนพ่อแม่ไม่ทันสังเกตถึงความรุนแรง จนบางครั้งกว่าจะรู้และรักษาให้หาย เด็กก็อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นเราจึงควรรู้เรื่องโรคมือ เท้า ปาก กันไว้เพื่อหาทางป้องกัน ดูแล และรักษาให้ทันท่วงที
 
 
สาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก (Hand-Foot-and-Mouth Disease: HFMD) เกิดจากเชื้อไวรัสหลายตัวในตระกูลเอนเตอโรไวรัส ซึ่งมีกว่า 70 สายพันธุ์ โดยมากเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะรับเชื้อได้ง่าย ไวรัสตัวนี้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองได้ค่อนข้างรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
 
การแพร่กระจายของโรคมือ เท้า ปากส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการสัมผัสกันเป็นหลัก โดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของเด็กที่ป่วย รวมไปถึงการไอจามรดกัน ซึ่งจะติดต่อกันง่ายมากขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย ดังนั้นเด็กที่คลุกคลีและเล่นกับเด็กที่ป่วยจึงมีโอกาสติดเชื้อได้สูง
 
อาการโรคมือ เท้า ปาก เป็นอย่างไร
อาการโรคมือ เท้า ปากระยะแรกจะเริ่มจากเป็นไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาจมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ เสียงแหบ (คล้าย เป็นหวัด) อาเจียนหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย ต่อมาเป็นผื่นและตุ่มน้ำใสที่บริเวณปาก ฝ่ามือ และฝ่าเท้า บางครั้งอาจจะมีผื่นขึ้นที่บริเวณก้นด้วย ลักษณะสำคัญเฉพาะโรคนี้คือ ตุ่มน้ำใสที่ขึ้นในปากจะมีขนาดเล็กและแตกเป็นแผลตื้นๆ โดยเฉพาะบริเวณลิ้นและกระพุ้งแก้ม ทำให้เด็กกินอาหารได้ลดลง และน้ำลายไหลมากผิดปกติ ส่วนตุ่มใสที่มือและเท้าจะไม่แตกเหมือนตุ่มในปาก
 
แม้ว่าอาการของเด็กที่เป็นโรคมือ เท้า ปากจะแยกจากโรคทั่วไปได้ยาก แต่ก็พอจะมีสิ่งที่สังเกตได้อยู่ ถ้าลูกมีไข้โดยไม่รู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไรควรหยุดเรียนเพื่อรอดูอาการอย่างน้อย 5-7 วัน หากไข้ลดลงแล้วไม่มีตุ่มใสขึ้นก็ไปโรงเรียนได้ตามปกติ แต่หากเฝ้าดูอาการแล้วพบว่ามีตุ่มขึ้นก็อาจจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก และเมื่อพบว่าลูกป่วยเป็นโรคนี้ควรให้ลูกหยุดเรียน เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคมือ เท้า ปาก ดังนั้นหลักในการสังเกตง่ายๆ จึงอยู่ที่ตุ่มใสที่ขึ้นร่วมกับอาการมีไข้
 
โรคมือ เท้า ปาก รุนแรงขนาดไหนจึงควรพบแพทย์
จริงๆ แล้วเมื่อสังเกตอาการแล้วว่าใช้โรคมือ เท้า ปาก ก็ควรรีบพาพบแพทย์ได้เลยโดยไม่ต้องรอดูอาการ หรือรอให้เกิดความรุนแรงของโรค โดยให้สังเกตง่ายๆ ว่า เมื่อผ่านไป 2 วัน เด็กจะซึม อ่อนแรง ชักกระตุก มือสั่น เดินเซ หอบ อาเจียน หากพบอาการเหล่านี้จะต้องพบแพทย์โดยด่วน เพราะเป็นอาการของโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมากคือ ภาวะสมองอักเสบ ซึ่งอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้
 
 
โรคมือ เท้า ปาก รักษาอย่างไร
เนื่องจากโรคมือ เท้า ปาก ไม่มีวัคซีนและยาเฉพาะในการรักษา ก็จะเป็นการรักษาตามแต่อาการที่เป็นเท่านั้นเอง เช่น ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ให้กินอาหารอ่อนๆ และอาหารที่มีความเย็น เช่น น้ำผลไม้ ไอศกรีม เพื่อลดอาการเจ็บที่ปาก ลิ้น และทำให้เด็กกินได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารแข็งและอาหารร้อนๆ
นอกจากนั้นเด็กอาจมีอาการท้องร่วง อ่อนเพลีย เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ควรให้เด็กดื่มสารละลายเกลือแร่ร่วมด้วย แต่หากลูกเกิดตัวเขียว หายใจหอบเหนื่อย มือซีด อาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลด่วน โดยปกติโรคนี้สามารถหายได้เองภายใน 5-7 วัน เมื่อไข้ลด ตุ่มน้ำยุบ กินอาหารได้ตามปกติ ลูกก็สามารถไปโรงเรียนได้