โรคปริทันต์คืออะไร | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคปริทันต์คืออะไร

Date : 20 September 2015
โรคปริทันต์ หมายถึง โรคที่เกิดกับเนื้อเยื่อหรืออวัยวะรอบ ๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เนื้อเยื่อปริทันต์ และกระดูกหุ้มรากฟัน ในระยะแรกที่เป็นโรคนี้จะไม่มีอาการใดๆ
 ต่อมาจะมีการทำลายอวัยวะเหล่านี้ ทำให้กระดูกหุ้มรากฟันละลายและเหงือกร่น อาจมีการปวดบวม ฟันโยกและหลุดในที่สุด ชาวบ้านมักเรียกว่า โรครำมะนาด
 
สาเหตุของโรคปริทันต์
 
1.1 สาเหตุโดยตรง คือ สารพิษที่เป็นของเสียจากเชื้อจุลินทรีย์ในแผ่นคราบจุลินทรีย์ถูกขับออกมาตามขอบเหงือก ทำให้เหงือกอักเสบ บวมแดง และเนื้อเยื่อปริทันต์ฉีกขาด กระดูกหุ้มรากฟันละลายตัว ขบวนการนี้จะเป็นไปอย่างช้า ๆ
 
ปัจจัยเสริมที่มีผลต่อการเกิดโรคปริทันต์ คือ หินน้ำลายหรือหินปูน ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของแคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสในน้ำลายรวมกับแผ่นคราบจุลินทรีย์ แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนสภาพจากอ่อนนุ่มเป็นแข็งขึ้นตามระยะเวลาที่สะสม ในที่สุดจับเป็นก้อนแข็ง เรียกว่าหินน้ำลาย ซึ่งไม่อาจขจัดออกได้ด้วยการแปรงฟัน และเป็นที่เกาะยึดของแผ่นคราบจุลินทรีย์ได้เป็นอย่างดี จึงทำให้การอักเสบของเหงือกรุนแรงขึ้นการทำลายมีมากขึ้น ในที่สุดอาจเป็นหนองหรือที่เรียกทั่วไปว่า รำมะนาด ทำให้มีกลิ่นปาก ฟันโยก และหลุดไปในที่สุด
 
1.2 สาเหตุทางอ้อม ได้แก่
  • การขาดสารอาหาร โดยเฉพาะการขาดวิตามินซี บี และ ดี
  • ฟันซ้อนเก ฟันเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ หรือมีลักษณะฟันที่ผิดปกติ ทำให้ทำความสะอาดยาก
  • การใส่ฟันปลอมไม่ถูกลักษณะ อาจทำให้เกิดโรคเหงือกได้
  • การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของร่างกายเมื่อร่างกายมีเปลี่ยนแปลงจากบางสภาวะ เช่น หญิงมีครรภ์ การเข้าสู่วัยหนุ่มสาว
  • ลักษณะของอาหารที่รับประทาน ถ้าอาหารละเอียดอ่อนนิ่มติดฟันง่าย หรือมีส่วนผสมของน้ำตาลมาก จะทำให้มีการสะสมของแผ่นคราบจุลินทรีย์มากขึ้น
  • การเคี้ยวอาหารโดยใช้ฟันเพียงข้างเดียว ฟันข้างที่ไม่ได้ใช้จะไม่ได้รับการขัดสีจากอาหาร ทำให้แผ่นคราบจุลินทรีย์และหินน้ำลายสะสมมากขึ้น
  • การหายใจทางปาก หรือริมฝีปากไม่สามารถปิดสนิท
  • การระคายเคืองจากสารเคมี
                                                       
ลักษณะอาการและการลุกลามของโรคปริทันต์
 
ลักษณะของเหงือกปกติ
 
       เหงือกปกติจะมีลักษณะแน่น ขอบบางแนบกับคอฟัน มีสีชมพูอ่อนหรือสีคล้ำตามสีผิว ปกคลุมถึงคอฟัน และมีร่องฟันตื้น ๆ โดยรอบลึกประมาณ ๑ - ๒ มิลลิเมตร
 
ลักษณะของเหงือกที่เป็นโรค
 
       เริ่มจากมีอาการอักเสบของขอบเหงือก เหงือกมีสีแดงจัด เป็นมันวาว ขอบเหงือกไม่แนบกับคอฟันบวมยื่นเลยคอฟัน มีเลือดออกง่าย
บางครั้งอาจมีหนองไหลเมื่อใช้มือกด มีร่องปริทันต์ลึก ๓ - ๔ มิลลิเมตร ถ้ามีการทำลายเนื้อเยื่อปริทันต์และกระดูกหุ้มรากฟันมากขึ้นร่องปริทันต์อาจจะลึกมากขึ้น
 
โรคปริทันต์แบ่งได้เป็น 4 ระยะ
 
ระยะที่ 1
       สารพิษของเชื้อจุลินทรีย์ทำให้เกิดการอักเสบของเหงือกและเนื้อเยื่อปริทันต์ เหงือกจะบวมแดง ขอบเหงือกบวมไม่แนบสนิทกับคอฟัน
อาจมีเลือดออกขณะแปรงฟันบริเวณที่เหงือกบวม
 
ระยะที่ 2  
       เมื่อเหงือกอักเสบอยู่นาน ลักษณะเหงือกที่บวมจะขยับ เผยอออก มีคราบจุลินทรีย์มาสะสมหนาขึ้น และเคลื่อนลงใต้เหงือก ทำความสะอาดได้ยาก เกิดหินน้ำล าย 
ต่อมาเหงือกอักเสบและแยกตัวจากฟันมากขึ้น กระดูกหุ้มรากฟันจะถูกทำลายลงไปด้วย ลักษณะเหงือกจะมีสีแดงคล้ำ บวม มีเลือดไหลจากเหงือกที่บวม เริ่มมีหินน้ำลายเกาะ
บางส่วนหรือรอบ ๆ ตัวฟัน กระดูกถูกทำลายและเหงือกร่น มองเห็นตัวฟันยาวขึ้น มีกลิ่นปาก
 
ระยะที่ 3  
        มีหินน้ำลายเกาะหนาและขยายไปปลายรากฟัน กระดูกหุ้มรากฟันถูกทำลาย เหงือกร่นมากขึ้น ฟันจะโยกร่วมกับมีอาการเจ็บขณะเคี้ยวอาหาร มีหนองและเลือด
ไหลบริเวณเหงือกที่อักเสบ กลิ่นปากรุนแรง
 
ระยะที่ 4   
        โรคลุกลามมากกว่าระยะที่ 3 อาจมีฝีที่เหงือก ทำให้เหงือกบวมและอาจทำให้ใบหน้าบวมด้วย จะปวดมากจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ฟันโยกมากจนเกิดความรำคาญ และไม่สามารถรักษาฟันให้กลับคืนสภาพใช้งานได้อีกทำให้ต้องถอนออกหรือปล่อยให้หลุดไปเอง
 
ผลเสียของโรคปริทันต์
  • ติดเชื้อ เป็นหนอง เจ็บปวดทรมานและมีกลิ่นปาก
  •  
  • ฟันโยก เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด
  •  
  • สูญเสียฟันหลายซี่พร้อม ๆ กัน
  •  
  • เชื้อโรคแพร่กระจายสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
 
 
การรักษา
 
ระยะที่ 1 แปรงฟันเพื่อขจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่อยู่รอบตัวฟันออก และรักษาความสะอาดของเหงือกและฟันด้วยการแปรงฟันที่ถูกวิธี สม่ำเสมอ
 
ระยะที่ 2 โดยการขูดหินน้ำลาย ขัดทำความสะอาดฟัน และรักษาความสะอาดในช่องปากสม่ำเสมอ
 
ระยะที่ 3 โดยการขูดหินน้ำลาย ขัดทำความสะอาดฟัน อาจร่วมกับการผ่าตัดในบางส่วนที่เป็นรุนแรงมาก ต้องรักษาความสะอาดช่องปาก และพบทันตแพทย์สม่ำเสมอ
 
ระยะที่ 4 ถอนฟัน