การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

Date : 16 October 2015

การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (Pandemic flu)

   การระบาดตามระบาดวิทยาแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ โรคประจำถิ่น(Endemic) โรคระบาด(Epidemic) และโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก(Pandemic) โดยการระบาดทั่วโลกของไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสทำให้คนส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตัวนั้นๆ นอกจากนั้นไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ซึ่งทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย และรวดเร็ว

อาการของไข้หวัดใหญ่

   เมื่อได้สัมผัสกับไวรัสไข้หวัดใหญ่แล้วจะใช้เวลา 2-3 วันก่อนแสดงอาการ โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นจะเติบโตบริเวณจมูก คอ ไซนัส ทางเดินหายใจ และปอด ซึ่งทำให้มีอาการได้ดังนี้ คือ ไข้สูงอาจมีหนาวสั่นได้(39-40 องศาเซลเซียส), คัดแน่นจมูก, ไอจาม, ปวดศีรษะ, เจ็บคอ, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก โดยอาการมักเป็นประมาณ 1 อาทิตย์
ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่
   ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงมักหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่าสายพันธุ์ใหม่นี้จะทำให้เกิดอาการรุนแรงได้มากน้อยเท่าใด โดยผู้สูงอายุมักมีอาการรุนแรงมากกว่า โดยภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่มีดังนี้ คือ ปอดอักเสบ, หลอดลมอักเสบ, หอบหืดกำเริบเฉียบพลัน, การติดเชื้อในหูชั้นกลาง, ไซนัสอักเสบ, กล้ามเนื้ออักเสบ, สมองอักเสบ, ไข้ชัก(มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี)


การรักษาไข้หวัดใหญ่
   คนส่วนใหญ่มักหายได้เองโดยไม่ต้องพบแพทย์ อย่างไรก็ตามหากอยู่ในช่วงของการระบาดทั่วโลก คุณอาจต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อควบคุมการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ต่อไป โดยการรักษาแบ่งออกเป็นหลายแนวทาง คือ

  • การดูแลตนเอง กินน้ำให้เพียงพอ, พักผ่อน, และกินยาลดไข้
  • การรักษาด้วยยา การใช้ยาต้านไวรัสนั้นอาจช่วยลดความรุนแรงของอาการ และระยะเวลาของการเจ็บป่วยได้ อย่างไรก็ตามหากเป็นการระบาดของสายพันธ์ใหม่ๆ อาจไม่ทราบประสิทธิภาพที่แน่นอนของยาต่อการฆ่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยแพทย์จะเลือกให้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการอย่างรุนแรงได้ เช่น ผู้สูงอายุ และผู้มีภูมิคุมกันบกพร่อง เป็นต้น


การป้องกันไข้หวัดใหญ่

    ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดการแพร่โรคต่อกันได้ เช่น ล้างมือบ่อยๆ, ปิดปากและจมูกเสมอขณะไอ, ไม่ไปในสถานที่มีคนเบอะมากๆ หรือกำลังมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ และหากมีความเสี่ยงสูงให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่(ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี, มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ, เบาหวาน, โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น) อย่างไรก็ตามวัคซีนมักได้ผลกับไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาลเท่านั้น และวัคซีนที่ใช้ป้องกันสำหรับการแพร่ระบาดทั่วโลกมักต้องใช้เวลา 2-3เดือน หลังเริ่มระบาดเพื่อทำการคิดวัคซีนขึ้นใหม่