หลังป่วยไข้เลือดออก ใช้เวลาฟื้นตัว 3 วันถึงเดือน | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

หลังป่วยไข้เลือดออก ใช้เวลาฟื้นตัว 3 วันถึงเดือน

Date : 16 November 2015

แพทย์จุฬาฯ เผยหลังป่วยไข้เลือดออก อวัยวะใช้เวลาฟื้นตัว 2-3 วัน หรือเป็นสัปดาห์จนถึงเดือน อยู่ที่ร่างกายผู้ป่วย ความรุนแรงของโรคเกี่ยวกับพันธุกรรมต้องเร่งศึกษา พ่วงการดูแลระยะต้น ย้ำห้ามกินแอสไพริน ยาตระกูลลงท้าย -เฟน
วันนี้ (13 พ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในงานแถลงข่าว เรื่อง"ไข้เลือดออก....น่ากลัวหรือไม่?" ว่า อาการสำคัญของโรคไข้เลือดออก คือ ไข้สูงลอย หมายถึงมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส  กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลง ปวดเมื่อยตามตัว ช่วงแรกอาจจะแยกยากจากโรคไข้หวัดใหญ่ จนเมื่อเข้าสู่วันที่ 3-4 จึงจะเป็นอาการชัด ส่วนใหญ่เป็นอาการทางระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเลือดออกบริเวณผิวหนัง แต่โอกาสที่ประชาชนจะเห็นเองยากมาก แพทย์ต้องทำการรัดแขน หากมีอาเจียนเป็นเลือด แสดงว่ามีเลือดออกในกระเพาะอาหาร การรักษาจะยากขึ้น ส่วนใหญ่ไข้เลือดออกไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลงอาการจะดีขึ้น เว้นแต่ผู้ป่วยที่เมื่อไข้ลดลงแล้วแต่อาการแย่ลง เช่น ปวดท้องมากขึ้น อาเจียน ตัวเย็น ต้องรีบพบแพทย์ แต่เป็นส่วนน้อย


รศ.นพ.ชิษณุ กล่าวว่า ไข้เลือดออกช่วงอันตราย คือ

1. มีการรั่วของพลาสมาออกจากหลอดเลือด ถ้ารั่วมากจะเกิดภาวะช็อก 

2. เลือดออกในกระเพาะเพราะเกล็ดเลือดต่ำทำให้มีเลือดออก แต่จะเป็นชั่วคราว

3. อวัยวะบางอย่างล้มเหลว เช่น ปอด  ตับ ไต ทั้งนี้ โอกาสเกิดความรุนแรงพบน้อย แต่บางคนมีอาการรุนแรงมาก จนอวัยวะล้มเหลวแพทย์จะทำการรักษาโดยหวังว่าอวัยวะจะกลับมาทำงานได้ตามปกติ อาการก็จะดีขึ้น จนหาย ส่วนระยะเวลาที่อวัยวะจะทำงานปกติอาจ 2-3 วัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน ต้องอาศัยความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย


ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในปี 2558 เชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในไทยจะใกล้เคียงกับปี 2556 ที่มีการระบาดมาก จึงไม่ถือว่าปีนี้มีการระบาดที่ผิดปกติ เนื่องจากไข้เลือดออกจะระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี อัตราป่วยแล้วเสียชีวิตไม่แตกต่างจากเดิมอยู่ที่ 1 ต่อ 1,000 ประชากร จากการศึกษาของศูนย์ฯพบว่าสายพันธุ์ที่พบบ่อยในปี 2558 มีทั้ง 1-4 แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือสายพันธุ์ที่ 4

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า บางคนที่โรครุนแรง แต่บางคนไม่รุนแรง อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมอันนึงที่ทำให้แต่ละคนตอบสนองต่อการติดเชื้อไข้เลือดออกไม่เหมือนกัน ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพันธุกรรมไหนจำเป็นต้องเร่งศึกษา  นอกจากนี้ ความรุนแรงเกี่ยวกับการดูแลระยะแรก ช่วงไข้ การขาดน้ำ การกินยาลดไข้พวกแอสไพริน หรือยาที่ลงท้ายด้วยเฟน (-Fen) หรือที่เรียกว่ายาลดไข้สูง ห้ามกินเด็ดขาดในผู้ป่วยไข้เลือดออก เพราะจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น เลือดออกได้มากขึ้น เสียเลือดมาก  

    
"ผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วสามารถเป็นได้อีก เพราะไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ โดยการเป็นครั้งที่ 2 อาการจะรุนแรงกว่า ซึ่งภาวะช็อกมักจะเกิดขึ้นในการป่วยครั้งที่ 2 เพราะตราบาปการติดเชื้อครั้งแรก ทำให้มีปฏิกิริยาภูมิต้านทานรุนแรงเร็ว เมื่อเกิดการรบกันระหว่างภูมิต้านทานต่อไปไวรัสในบ้านเจ้าถิ่น ทำให้บ้านพังเสียหาย" ศ.นพ.ยงกล่าว


ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ผช.อธิการบดีและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันและโรคติดเชื้อ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม กล่าวว่า ยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกเมื่อไข่ออกมาไข่และลูกน้ำก็จะมีเชื้อด้วย หากอุณหภูมิของอากาศมากขึ้นเวลาที่ไข่ยุงจะกลายไปเป็นยุงลายจะสั้นมากทำให้ปริมาณการแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะถ้าฝนตกสลับกับอากาศร้อนจะมียุงลายมากมีโอกาสโรคไข้เลือดออกระบาดมาก โดยยุงลายจะหากินเวลากลางวันและอยู่บริเวณในบ้าน ชอบอยู่ตามสิ่งห้อยแขวน น้ำนิ่งใส บินไกลได้ 100-200 เมตร ไม่ชอบแสงและลมแรง โดยชอบกัดเด็ก เพราะผิวนุ่ม ผู้หญิงเพราะมีฮอร์โมนดึงดูดบางอย่าง คนหายใจแรงเพราะมีคาร์บอนไดออกไซด์รอบตัวมาก คนที่เหงื่อออกมากและคนที่สวมใส่เสื้อผ้าสีเข้ม ที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นยุ่งจะชอบ การป้องกันจึงต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
 
 
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์