ภัยจากการ ‘สำลักอาหาร-น้ำ’ ในผู้สูงอายุ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

ภัยจากการ ‘สำลักอาหาร-น้ำ’ ในผู้สูงอายุ

Date : 16 November 2015

มนุษย์ทุกคนเกิดมามีจุดอ่อนตรงที่ทางเดินอาหารและทางเดินหายใจส่วนต้น ใช้ช่องทางร่วมกันในบริเวณคอหอย ก่อนที่จะแยกออกเป็นหลอดลมซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของลำคอ และหลอดอาหารซึ่งอยู่ทางด้านหลัง
การกลืนอาหารและน้ำโดยไม่สำลักเข้าหลอดลมต้องอาศัยการควบคุมของระบบประสาท และกล้ามเนื้อที่ซับซ้อน ทำงานประสานกันอย่างถูกต้องโดยอัตโนมัติไม่ผิดพลาดตั้งแต่เกิด ทุกครั้งที่กลืนอาหารและน้ำ กล้ามเนื้อปากและลิ้นจะผลักดันอาหารและน้ำลงไปในคอไม่ให้ไหลขึ้นจมูก และกล้ามเนื้อบริเวณคอจะยกกล่องเสียงขึ้นมาชนกับใต้ฝาปิดกล่องเสียง ไม่ให้อาหารและน้ำเล็ดลอดเข้าสู่หลอดลม รวมทั้งหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนจะคลายตัว เพื่อให้อาหารและน้ำเคลื่อนลงสู่หลอดอาหาร


ในเวลากลางคืนขณะหลับเกือบร้อยละ 50 ของคนปกติจะมีน้ำลายในช่องปากปริมาณน้อย ๆ เล็ดลอดลงไปในหลอดลม แต่ไม่เป็นอันตราย เพราะร่างกายมีกลไกขับเคลื่อนน้ำจากช่องปากที่เล็ดลอดลงหลอดลมให้ย้อนขึ้นมาทางกล่องเสียงแล้วกลืนลงไปในหลอดอาหารเอง แต่เมื่อคนอายุมากขึ้น มีโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคความจำเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคจากอุบัติเหตุทางสมอง โรคของเส้นประสาท โรคมัยแอสธีเนีย กราวิส โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง


การทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อที่ควบคุมการกลืนเริ่มผิดพลาด เกิดการสำลักง่าย
ผลตามมาของการสำลักขึ้นอยู่กับปริมาณสิ่งที่สำลัก สำลักบ่อยแค่ไหน ทุกวันหรือนาน ๆ ครั้ง ของที่สำลักเป็นของแข็ง เศษอาหาร ของเหลว น้ำ น้ำมัน หรือกรดจากกระเพาะอาหาร ประสิทธิภาพในการไอขับสิ่งแปลกปลอมออกได้เองและภูมิคุ้มกันของร่างกาย ภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาจากการสำลักเศษอาหาร เช่น ขนมเข่ง ขนมโมจิ ลูกชิ้น ยาเม็ดโต ๆ ติดคอ ทำให้ขาดอากาศหายใจ เสียชีวิตได้ทันที โรคปอดอักเสบจากการสำลักกรดหรือน้ำมัน และปอดติดเชื้อจากเชื้อโรคในช่องปากลงปอด สุดท้ายทำให้ระบบหายใจล้มเหลว

วิธีการป้องกันการสำลัก
ก่อนอื่นต้องประเมินว่าผู้ป่วยมีปัญหาการกลืนระดับไหน โดยให้ลองดื่มน้ำเปล่า 1 ช้อนชา ถ้าไม่สำลักเพิ่มขึ้นเป็น 1 ช้อนโต๊ะ ถ้าเริ่มสำลักตั้งแต่ดื่มน้ำเปล่าปริมาณน้อย ๆ แสดงว่ามีปัญหาการกลืนรุนแรง แนะนำอาหารซึ่งมีอยู่ 4 ระดับขึ้นกับผู้ป่วยมีปัญหาการกลืนตั้งแต่มากสุดลงไปน้อยสุด ระดับที่ 1 เหมาะกับผู้ป่วยเพิ่งเริ่มฝึกกลืน เช่น อาหารปั่นข้น ปั่นอาหารให้ละเอียด มีลักษณะข้นหนืด เช่น โจ๊กปั่นข้น ซุปปั่นข้น ไข่ตุ๋น ระดับที่ 2 เป็นอาหารปั่นเหลวกว่าระดับที่ 1 อาหารทุกอย่างสับละเอียด เช่น ซุปข้น แต่เหลวกว่าระดับที่ 1 ระดับที่ 3 เป็นอาหารอ่อน เคี้ยวง่าย ไม่มีกากแข็ง สับหยาบ ๆ เช่น ข้าวต้มขาวปกติ ปลานึ่ง เต้าหูหมูสับ ระดับที่ 4 เหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืนเล็กน้อย เป็นอาหารอ่อนปกติ อาหารไม่จำเป็นต้องบดหรือสับ

นอกจากนี้ควรปรึกษานักกิจกรรมบำบัดช่วยในการฝึกกระตุ้นกล้ามเนื้อปากและลิ้น และกระตุ้นการกลืน เวลากลืนอาหารแนะนำให้นั่งตัวตรง ก้มศีรษะเล็กน้อย ตั้งใจกินทีละคำ ไม่พูดคุยระหว่างกิน ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ทำด้วยสารธรรมชาติมีขายในโรงพยาบาลและร้านขายยา เมื่อนำสารธรรมชาตินี้มาผสมกับน้ำจะทำให้น้ำข้นหนืด โดยไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีสี ช่วยให้กลืนน้ำได้โดยไม่สำลัก ข้อห้ามสำหรับคนสูงอายุ คนที่มีปัญหาทางการกลืน คนที่มีโรคทางสมอง ห้ามอม กลั้วคอ และกลืนน้ำมันทุกชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันละหุ่ง เพราะน้ำมันทุกชนิดสำลักง่ายยิ่งกว่าน้ำ
เนื่องจากเป็นของเหลวที่เบากว่าน้ำ ถ้าสำลักแล้วโอกาสเป็นโรคปอดอักเสบสูง รักษายาก อาจเสียชีวิตได้ ถ้าทำทุกอย่างแล้วผู้ป่วยยังสำลักอาหารและน้ำหรือไม่ยอมกลืน ก็ต้องพิจารณาใส่สายยางผ่านทางจมูกเข้ากระเพาะอาหาร และให้อาหารผ่านสายยาง แต่ถ้าต้องให้อาหารผ่านสายยางทางจมูกเป็นเวลานาน
เนื่องจากมีปัญหาการกลืนถาวรแก้ไขไม่ได้ แนะนำให้เจาะกระเพาะอาหารทางหน้าท้องและให้อาหารทางสายไปยังกระเพาะอาหารโดยตรง เพราะจะลดโอกาสการสำลักน้ำลายในปากลงปอด และลดโอกาสโรคปอดติดเชื้อจากการสำลักน้ำลายได้มากกว่า
 
เรื่องโดย นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินหายใจและผู้สูงอายุ
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์