เคล็ดลับการเลือกโภชนาการสำหรับทารกและเด็ก | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

เคล็ดลับการเลือกโภชนาการสำหรับทารกและเด็ก

Date : 20 November 2015

นักกำหนดอาหาร แชร์เคล็ดลับวิธีการเลือกโภชนาการสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่วัย 6 เดือนถึง 3 ปี ป้องกันภาวะทุพโภชนาการในเด็ก
โภชนาการสำหรับทารกและเด็ก



ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักกำหนดอาหารวิชาชีพจากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ภาวะทุพโภชนาการในเด็กกำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย พบว่าร้อยละ 60 ของเด็กไทยอยู่ในภาวะขาดสารอาหาร ในขณะที่ร้อยละ 20 ของเด็กไทยอยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน และจากการสำรวจพบว่าในปีพ.ศ. 2555 เด็กไทยเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 15 ในขณะที่ 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียนเป็นโรคอ้วนแต่กลับขาดสารอาหาร ซึ่งการได้รับโภชนาการที่ไม่ถูกต้องและไม่เพียงพอทำให้เสี่ยงต่อภาวะเชาวน์ปัญญาต่ำ และมีแนวโน้มส่งผลต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี


ปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดว่าลูกจะต้องรับประทานแต่นมเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วเด็กอายุ 6 เดือนก็ต้องการอาหารเสริมจากนมแม่แล้ว อย่างที่เราทราบว่าร่างกายคนเราต้องการอาหารครบ 5 หมู่ คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ แต่ปริมาณของสารอาหารแต่ละหมู่จะแตกต่างกันตามการเจริญเติบโตของร่างกายและช่วงวัย แต่ปัจจุบันเรากลับพบว่าเด็กไทยอ้วนและเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น นั่นก็เป็นเพราะเด็กได้รับสารอาหารประเภทแป้งมากเกินความต้องการของร่างกาย นั่นอาจมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารบางชนิดมากเกินไป เช่น ขนมขบเคี้ยว น้ำหวาน น้ำอัดลม รวมถึงอาหารฟาสต์ฟู้ด เป็นต้น


แต่ถึงแม้เด็กจะมีน้ำหนักเกิน แต่กลับพบว่าส่วนมากมักมีภาวะขาดสารอาหาร อย่างขาดโปรตีน ซึ่งอาจเป็นเพราะโปรตีนที่ได้รับมีปริมาณของกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตไม่เพียงพอหรือเรียกว่าได้รับโปรตีนที่มีคุณภาพน้อย หรือบางรายอาจขาดวิตามินและแร่ธาตุ เพราะไม่ค่อยรับประทานผักและ ผลไม้ ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโต ยกตัวอย่างเช่น วิตามินเอ ในแครอท ส้ม ผักสีเขียว จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและบำรุงสายตา ส่วนวิตามินซี ในผลไม้รสเปรี้ยวหรือผักตระกูล กะหล่ำ จะช่วยลดอนุมูลอิสระในร่างกายและสร้างคอลลาเจนที่จำเป็น สำหรับวิธีแก้ไขเด็กที่ไม่ยอมทานผักหรือผลไม้ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ถอดใจ หากลูกคายทิ้งก็ต้องรออีก 3-4 วันค่อยป้อนใหม่ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อให้เด็กคุ้นชินกับกลิ่นและรสชาติ หรืออาจจะลองเปลี่ยนวิธีปรุงอาหาร เช่น จากต้มเปลี่ยนเป็นผัดบ้าง ทอดบ้าง ให้มีความหลากหลาย หรือกินเป็นตัวอย่างให้ลูกดู เป็นต้น เราเชื่อว่าหากสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กได้ ปัญหาโภชนาการและปัญหาสุขภาพที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารก็จะหมดไปด้วย


“จะเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่คือจุดเริ่มต้นของโภชนาการของลูก เพราะเป็นบุคคลสำคัญที่เป็นผู้เลือกอาหารให้ลูกทาน โดยเฉพาะในช่วง 3 ขวบปีแรก ดังนั้น เราจึงพยายามที่จะส่งต่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโภชนาการให้คุณพ่อคุณแม่ เพราะพฤติกรรมการรับประทานในวัยเด็กส่งผลอย่างมากต่อพฤติกรรมการรับประทานเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ จะเห็นว่าหากตอนเด็กใครไม่ทานผัก โตไปก็เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ทานผักเหมือนกัน เราจึงคิดค้นและพัฒนาหลักสูตรการอบรมด้านโภชนาการให้ความรู้คุณพ่อคุณแม่แนวใหม่ ด้วยการใช้สื่อการสอนแบบรูปภาพแทนตำราตัวหนังสือ การให้คุณพ่อคุณแม่ได้ฝึกลงมือปฏิบัติจริง และวิธีประยุกต์ ความรู้เข้ากับชีวิตประจำวัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าแม่ที่เข้าร่วมโครงการ Feed For The Future ได้รับการอบรมมีระดับความรู้ทางด้านโภชนาการเด็กเล็ก ทัศนคติ และแบบแผนการกิน รวมถึงระดับสารอาหาร ของทั้งแม่และเด็กเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมไปถึงตัวเด็กมีพัฒนาการด้านร่างกายตามเกณฑ์ในแต่ละวัยด้วย” ผศ. ดร.ฉัตรภา กล่าว

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์