ลดบริโภค `เกลือ-โซเดียม` เลี่ยงโรค NCDs | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

ลดบริโภค `เกลือ-โซเดียม` เลี่ยงโรค NCDs

Date : 8 December 2015

คนไทยรับโซเดียมเกิน 2 เท่าตัว!!! จากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็มเมื่อปี 2550 พบว่า คนไทยรับโซเดียมมากกว่าความต้องการของร่างกาย
และสูงกว่าค่าที่ควรบริโภคโดยไม่เกิดอันตราย ถึง 2 เท่าตัว คือ ร้อยละ 4.35 กรัมต่อคนต่อวัน โดยที่ยังไม่รวมโซเดียมในรูปแบบอื่นที่แฝงมา เช่น ผงชูรส น้ำจิ้ม อาหารหมักดอง ผงฟูในขนมและอาหารแปรรูปต่างๆ ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเป็นโรค ไม่ติดต่อ (Non-communicated Diseases) หรือ NCDs อย่างมาก

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็น ว่าด้วยนโยบายการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อธิบายว่า ร่างกายของคนมีส่วนประกอบที่เป็นโซเดียมอยู่ร้อยละ 40 โดยจะช่วยรักษาสมดุลของเหลวและเกลือแร่ในร่างกาย ช่วยปรับความดันเลือด การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ช่วยในการดูดซึมสารอาหารบางอย่างที่จำเป็นต่อร่างกาย

แต่หากได้รับโซเดียมมากเกิน คือ มากกว่า 2 กรัมต่อวัน จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs คือ โรคความดันสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจาก เชื้อโรค ไม่ติดต่อจากการคลุกคลีกับผู้ป่วยคนอื่น แต่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันและการบริโภค

"มีการศึกษาในทั่วโลก พบว่า ประเทศไหนที่มีการกินเกลือมากก็จะมีผู้ป่วยโรค NCDs มาก เด็กรุ่นใหม่จะรับประทานอาหารประเภทนี้มาก ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง หรือ โจ๊กสำเร็จรูป เป็นต้น ก็ป่วยด้วยโรค NCDs มากขึ้น ในอายุที่น้อยลง คือป่วยเร็วขึ้น จากเดิมที่จะป่วยเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี ปัจจุบัน อายุ 20 ปีก็พบป่วยด้วยโรคความดันสูง โรคอ้วน และไขมันสูง แล้วก็จะมีโรคไตตามมา" ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวด้วยความเป็นห่วงเด็กไทย

การป้องกันโรค NCDs ส่วนหนึ่งที่สำคัญ ผศ.นพ.สุรศักดิ์ บอกว่า ต้องลดปริมาณเกลือและโซเดียมลงวันละ 5% ลดลงไปเรื่อยๆ วันละ 5% ร่างกายจะค่อยๆ ชินกับรสที่ปรับลง อย่าลดแบบครั้งละมากๆ เพราะลิ้นสัมผัสจะรู้สึกว่าไม่อร่อย ทำให้ไม่อยากกินอาหารรสจืด

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ ยกตัวอย่างว่า ในต่างประเทศ เช่น ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียูมีการออกกฎหมายควบคุมปริมาณเกลือในอาหาร โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ซึ่งเริ่มจากการขอความร่วมมือให้ลดลง 5%ต่อปี ผลที่เกิดขึ้นคือ ใน 5 ปี สามารถลดการกินเกลือลงได้ถึง 20%

สำหรับประเทศไทย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ บอกว่า จะมีการขับเคลื่อนนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ให้เป็นนโยบายสาธารณะ ผ่านการพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 "สานพลังปัญญาและภาคีสร้างวิถีสุขภาพไทย" โดยขอให้กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) สำนักงานบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีไทย เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องต่างๆ

อาทิ จัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทยให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 กำหนดมาตรฐานและออกกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหารประเภทต่างๆ ที่ผลิตทั้งในและนอกประเทศ ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดมาตรการที่เอื้อต่อการส่งเสริมการผลิตอาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมบริโภค การปรุงอาหารในครัวเรือนและร้านค้าเพื่อให้มีอาหารที่มีเกลือและโซเดียมต่ำ และขอให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการด้านอาหาร ทบทวน พัฒนา ส่งเสริมปรับปรุงตำรับอาหาร และทำผลิตภัณฑ์ที่ลดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหารประเภทต่างๆ พร้อมทั้งส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือและโซเดียมต่ำอย่างเป็นรูปธรรมเชิงพาณิชย์ เป็นต้น

ขณะที่ นายยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร บอกว่า คนไทยกินเค็มในรูปแบบที่ไม่รู้ว่ามีส่วนผสมของเกลือหรือโซเดียม เช่น อาหารกระป๋อง และเครื่องชูรส เพื่อให้รสชาติอร่อยและประหยัดเวลาในการปรุง ล้วนแต่มีโซเดียมทั้งสิ้น ผู้บริโภคก็รับประทานโซเดียมไปแบบเค็มแอบแฝง ดังนั้น ผู้ประกอบการอาหารต่างๆ ควรต้องมีความรับผิดชอบ โดยในส่วนของอาหารสำเร็จรูปต้องมีฉลากบอกปริมาณเกลือหรือโซเดียมที่เป็นส่วนผสม
 
ที่มา :  หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดย พวงชมพู ประเสริฐ

ขอบคุณรูปภาพจากอินเตอร์เน็ต