การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ

Date : 8 January 2016

โรคมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอมีวิธีการรักษาดังนี้ คือ การผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของโรค หากผู้ป่วยต้องได้รับรังสีรักษา จะส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในช่องปากได้ดังต่อไปนี้
            ผลกระทบต่อเยื่อบุกระพุ้งแก้ม และเหงือก เกิดการหลุดลอกของเยื่อบุผิว ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดไม่อยากรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือแปรงฟัน การป้องกัน พบทันตแพทย์เพื่อตรวจรักษาไม่ให้มีฟันที่แหลมคม ดื่มน้ำบ่อย ๆ ให้ช่องปากมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ การรักษา ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของยาชา หรือน้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ อาการนี้สามารถหายได้เอง เมื่อหยุดรังสีรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ผลกระทบต่อต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำลายจะผลิตน้ำลายได้น้อยลง และน้ำลายจะมีความข้นหนืดเพิ่มขึ้น ดังนั้นฟันจะขาดการชะล้างทำความสะอาดจากน้ำลาย มีสภาพความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น ไม่มีการหล่อลื่นระหว่างฟันกับฟัน และฟันกับกระพุ้งแก้ม จึงทำให้ปุ่มยอดฟันสึกแตกได้ง่าย กระพุ้งแก้มเป็นแผลถลอก หากมีฟันปลอม ฟันปลอมจะทำให้เหงือกเป็นแผลถลอกได้ นอกจากนี้ยังทำให้ปริมาณเชื้อแบคทีเรียเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย การรักษา ผู้ป่วยต้องดื่มน้ำเปล่าบ่อย ๆ หรือใช้น้ำลายเทียมแทนอาการนี้จะดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อหยุดรังสีรักษา แต่ในผู้ป่วยที่ได้รับรังสีปริมาณที่สูงมาก ต่อมน้ำลายจะไม่สามารถผลิตน้ำลายได้อีกผลกระทบต่อฟัน เนื่องจากน้ำลายที่น้อยลง และสภาพความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้น ฟันแตกง่าย เชื้อแบคทีเรีย เพิ่มปริมาณมากขึ้น จึงทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย ลุกลามรวดเร็ว และบริเวณที่ผุจะแตกต่างจากฟันผุโดยทั่วไป
            การป้องกัน พบทันตแพทย์เพื่อตรวจรักษา โรคฟันให้ดีก่อนที่จะเริ่มรังสีรักษา หากมีฟันที่จำเป็นต้องถอน ควรถอนฟันก่อนเริ่มรังสีรักษา ประมาณ 14 วัน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะกระดูกตายจากรังสี
ดูแลรักษาอนามัยช่องปากให้ดีตามทันตแพทย์แนะนำ ร่วมกับการใช้ฟลูออไรด์เสริมเป็นประจำ โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้ทำถาดเคลือบฟลูออไรด์ให้ และแนะนำวิธีการใช้ให้ผู้ป่วยใช้เองที่บ้านได้ ผู้ป่วยต้องกลับมาตรวจตามที่ทันตแพทย์นัดเพื่อตรวจหาฟันผุจากรังสีรักษาดังกล่าว การตรวจพบเร็ว ทำให้การรักษาเป็นไปได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยาก หากทิ้งไว้นานโรคอาจเป็นมากจนทำให้เกิดความเจ็บปวดและถ้าไม่สามารถเก็บฟันซี่นั้นไว้ได้ การถอนฟันอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
            ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุด คือการเกิดภาวะกระดูกตายจากรังสีรักษา เมื่อกระดูกขากรรไกรได้รับรังสีเป็นปริมาณมาก จะทำให้ขาดเลือดมาเลี้ยงน้อยลง ขาดออกซิเจนมาเลี้ยง และเซลล์สร้างกระดูกลดจำนวนลง หากเกิดแผลฉีกขาดบริเวณเหงือก เช่น จากการถอนฟัน ฟันปลอมกดทับ หรือของแข็งกระแทก อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อไปที่กระดูกขากรรไกร และเกิดกระดูกตายได้ ลักษณะที่พบคือผู้ป่วยมีความเจ็บปวดมาก มีกระดูกตายหลุดออกเป็นชิ้น ๆ 
            การป้องกัน ดูแลนามัยช่องปากให้ดี ใช้ฟลูออไรด์สม่ำเสมอทุกวัน ตรวจสุขภาพตามที่ทันตแพทย์นัด ก่อนทำการรักษาใด ๆ กับทันตแพทย์ท่านอื่น ต้องแจ้งทุกครั้งว่าท่านเคยได้รับรังสีรักษามาแล้ว และไม่ควรใส่ฟันปลอมในช่วงปีหลังได้รับรังสีรักษา
เมื่อเกิดความผิดปกติใด ๆ ควรรีบกลับมาพบทันตแพทย์ทันที

ที่มา ทพญ. ฉัตรแก้ว โตษยานนท์  งานทันตกรรม  โรงพยาบาลศิริราช  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล