โรคหืดในเด็ก | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคหืดในเด็ก

Date : 15 January 2016

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหืดคือพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม พันธุกรรมมีความสำคัญชัดเจนที่จะทำให้เกิดโรคหืด พบว่าถ้าพ่อเป็นโรคหืด ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคหืดร้อยละ ๓๐ ถ้าแม่เป็นโรคหืด ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคหืดมากกว่าร้อยละ ๓๐ ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคหืด ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคหืดสูงถึงร้อยละ ๖๐ ถ้ามีพี่น้อง (ท้องเดียวกัน) เป็นโรคหืด โอกาสเกิดโรคหืดจะสูงขึ้นร้อยละ ๗๐ ดังนั้น พันธุกรรม คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญของโรคหืด
สิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยสำคัญให้โรคหืดแสดงอาการมากขึ้น ประกอบด้วย

  • สารก่อภูมิแพ้ ไรฝุ่น เชื้อรา เกสรดอกไม้  แมลงสาบ อาหาร (เช่น นมวัว)
  • การติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจ
  • มลพิษ เช่น ควันบุหรี่ ไอเสีย รถยนต์

การอักเสบของทางเดินหายใจ

การอักเสบเป็นกระบวนการทางภูมิต้านทานของร่างกายที่จะตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่มีอันตรายต่อร่างกาย เช่น ข้ออักเสบ ผิวหนังอักเสบ ลำไส้อักเสบหลอดลมที่อักเสบจะมีความไวผิดปกติ ทำให้ตีบตันง่ายเมื่อถูกกระตุ้น หรือเมื่ออากาศเปลี่ยน (โรคหืดจึงมักพบคู่กับโรคแพ้อากาศ) การตีบตันของทางเดินหายใจเมื่อถูกกระตุ้น เกิดจาก
๑. การหดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบๆ หลอดลม
๒. ผนังหลอดลมบวมหนาตัวขึ้น
๓. เสมหะสร้างมากผิดปกติมาอุดตันทางเดินหายใจ 
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากกระบวนการอักเสบของผนังหลอดลม เมื่อทางเดินหายใจตีบแคบลง ผู้ป่วยต้องหายใจให้แรงและเร็วขึ้น เพื่อให้ลมสามารถผ่านเข้าออกได้มากพอแก่การนำออกซิเจนมาให้เพียงพอ แก่ร่างกาย และสามารถขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากร่างกาย ผู้ป่วยโรคหืดมักมีอาการภายหลังสัมผัสถูกสารที่แพ้ เช่น ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ จะมีการตีบตันของหลอดลม การตีบตันนี้อาจหายเป็นปกติเอง หรือภายหลังการใช้ยาขยายหลอดลม  การตีบตันหรือการคลายตัวของหลอดลมจนเกือบ ปกติในผู้ป่วยโรคหืดมักเป็นๆ หายๆ จนเป็นลักษณะสำคัญของผู้ป่วยโรคหืด หากวัดสมรรถภาพของปอดจะพบว่ามีความแปรปรวน การรักษาอาการอักเสบของหลอดลมด้วยยาสูดต้านการอักเสบ โดยไม่ปล่อยให้การอักเสบเรื้อรังลุกลาม และรุนแรง การรักษาส่วนใหญ่มักให้ผลดี ถ้าผู้ป่วยใช้   ยาได้ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับหลีกเลี่ยงสารที่มากระตุ้นโรคหืดเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลกที่จะต้องได้รับการแก้ไข พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก รุนแรงปานกลาง และรุนแรงน้อย แต่สัดส่วนการเสียชีวิตใกล้เคียงกัน แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงน้อยมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเท่าๆ กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก ดังนั้น ถึงแม้จะมีอาการของโรครุนแรงน้อยก็ประมาทไม่ได้

อาการอย่างไรเข้าข่ายเป็นโรคหืด
๑. เสียงหายใจออก ดังคล้ายนกหวีด มีเสียงดังวี๊ซ
๒. เหนื่อยง่ายขณะเล่นหรือออกกำลังกาย
๓. มีอาการไอเรื้อรังต่อเนื่องเป็นเวลานาน
๔. เวลาที่ติดไข้หวัด จะไอรุนแรง หรือไอนานกว่าเด็กคนอื่นๆ ที่เป็นไข้หวัด
๕. มีอาการไอหรือหอบเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน
๖. อาการที่หอบเหนื่อยหรือไอ ดีขึ้นภายหลังได้รับยาขยายหลอดลม
๗. มีอาการไอหรือหอบภายหลังสัมผัสถูกสารบางชนิด เช่น เล่นกับสัตว์เลี้ยง
๘. มีญาติพี่น้องเป็นโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ  เช่น แพ้อากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อหรือแม่ พี่น้องท้องเดียวกัน
ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหืดจะมีอาการแน่นหน้าอก อึดอัด หายใจลำบาก ไอ มีเสมหะ เกิดจากทางเดินหายใจตีบตัน เป็นครั้งคราว และเกิดขึ้นหลังจากสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นที่ผู้ป่วยแพ้ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ รังแคสัตว์ เกสรดอกไม้ หรือเชื้อราในอากาศ เป็นต้น

อาการอย่างไรที่ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือด่วนมาก
อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคหืด คนใกล้ชิดหรือคนที่พบเห็นจะต้องรีบช่วยเหลือทันทีและถูกต้อง
๑. ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย
๒. เริ่มมีอาการเขียวรอบปาก
๓. ผู้ป่วยที่ต้องสูดยาขยายหลอดลมบ่อยกว่าทุก ๓-๔ ชั่วโมง
๔. ผู้ป่วยไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้
๕. ผู้ป่วยมีเสียงหายใจวี๊ซ เพียงเล็กน้อยแต่มีอาการอ่อนเพลียมาก หายใจลำบาก
๖. เริ่มมีอาการซึม (บางรายเอะอะโวยวาย คล้ายคนจะจมน้ำ)
๗. สำหรับเด็กเล็ก หรือทารกที่ไม่ค่อยดูดนม ร้องเสียงเบา หายใจแรงและเร็ว ผิวหนังมีสีซีดหรือเล็บสีคล้ำ
              โรคหืดเป็นโรคที่พบบ่อยจนเป็นปัญหาสำคัญ แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการหอบที่ไม่รุนแรง แต่ก็เป็นโรคที่รบกวนชีวิตประจำวัน ทำให้เด็กขาดเรียนบ่อย ไม่กล้าออกกำลังกายเท่าที่อยากเล่น เสียโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา แม้ว่าโรคนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ปัจจุบันมีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตประจำวันที่ปกติเหมือนคนทั่วไป สำหรับเด็กโรคหืดสามารถเรียน เล่น และนอนได้เหมือนเด็กปกติ ผู้ป่วยโรคหืดต้องพยายามรักษาสุขภาพให้ดีด้วยอาหารที่ครบ ๕ หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ และควรหลีกเลี่ยง สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการหอบ รวมทั้งควรศึกษาการใช้ยาที่ถูกต้อง สามารถเลือกใช้ยาขยาย หลอดลมขณะที่มีอาการหอบ และใช้ป้องกัน หรือต้านการอักเสบอย่างสม่ำเสมอทุกวันตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท เนื่องจากยังมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้ ไม่เว้นแม้ผู้ป่วยที่มีอาการหอบที่ไม่รุนแรง

ที่มา พญ.ชลีรัตน์ ดีเรกวัฒนชัย  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี