โรคหลอดเลือดสมอง | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคหลอดเลือดสมอง

Date : 19 January 2016

ปัจจุบัน “โรคหลอดเลือดสมอง” ได้กลายมาเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก โดยพบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา สำหรับอุบัติการณ์ของโรคนี้ในประเทศไทยพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ส่วนใหญ่มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ จากข้อมูลด้านสาธารณสุขพบว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของความพิการระยะยาวในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ทั้งชายและหญิง

ได้รับเกียรติจาก ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มาแนะนำวิธีการดูแล รักษา และป้องกันตนเองจากโรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งเทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบัน ให้เราทุกคนได้เก็บไว้เป็นความรู้คู่กาย และนำมาใช้ได้ทันท่วงทีเมื่อจำเป็น

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณสมอง ได้แก่ หลอดเลือดในสมองตีบหรือตัน ส่งผลให้สมองขาดเลือด และ หลอดเลือดในสมองแตกทำให้มีเลือดออกในเนื้อสมองหรือโพรงกะโหลกศีรษะ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้

หลอดเลือดในสมองตีบหรือตัน

ส่วนใหญ่เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

1.หลอดเลือดผิดปกติ เช่น หลอดเลือดแข็ง ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงจากอายุที่มากขึ้น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ สูบบุหรี่ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้หลอดเลือดแข็ง ผนังหลอดเลือดหนาขึ้นจนกระทั่งค่อยๆ อุดตันไปในที่สุด นอกจากหลอดเลือดแข็งแล้ว ยังมีความผิดปกติอื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดอักเสบหรือโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดที่เป็นแต่กำเนิด

2.ลิ่มเลือดอุดตัน สาเหตุนี้หลอดเลือดอาจจะไม่ได้ผิดปกติ แต่มีลิ่มเลือดหลุดมาจากที่อื่น โดยเฉพาะจากหัวใจในกรณีที่หัวใจทำงานไม่ปกติ เช่น เป็นโรคหัวใจเต้นไม่ตรงจังหวะบางชนิด ลิ้นหัวใจผิดปกติหรือเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นที่หัวใจ และอาจุหลุดไปอุดตันในสมอง เกิดสมองขาดเลือดได้

หลอดเลือดในสมองแตก

มักพบว่าสาเหตุเป็นเพราะผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง โดยมี “ความดันโลหิตสูง” เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง เพราะแรงดันเลือดที่สูงมีส่วนทำให้ผนังหลอดเลือดเปราะ พอง และแตกง่าย

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจทำให้หลอดเลือดในสมองแตกได้ง่าย เช่น หลอดเลือดพิการผิดปกติแต่กำเนิด เนื้องอก หรือมีพยาธิบางชนิดไชเข้าไปในหลอดเลือด แต่พบได้น้อย อีกปัจจัยหนึ่งที่พบคือผู้ป่วยที่เลือดออกง่าย เช่น เป็นโรคเลือดบางชนิด หรือการรับประทานยาบางกลุ่มที่ทำให้เลือดออกง่าย (เช่น แอสไพริน) ร่วมกับอาหารบางอย่างที่เสริมกัน ทำให้เลือดยิ่งออกง่ายมากขึ้น

 พบอาการบ่งชี้ อย่ารอช้า

     โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด ไม่ค่อยมีอาการเตือนมาก่อน ผู้ป่วยมักจะสบายดี อาจมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น สูงอายุ ความดันโลหิตสูงอยู่ก่อน วันดีคืนดีก็เกิดอาการอ่อนแรงครึ่งซีก หรือปากเบี้ยวขึ้นมา ซึ่งอาการจะแสดงออกมาอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเกิดปัญหาที่สมองส่วนไหน เช่น ถ้าเกิดปัญหาที่สมองซีกซ้าย ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนแรงด้านขวา ชาครึ่งซีกด้านขวา หรือปากเบี้ยวด้านขวา เพราะสมองซีกซ้ายควบคุมร่างกายด้านขวา สมองซีกขวาควบคุมร่างกายด้านซ้าย

     นอกจากนี้ถ้าเกิดปัญหาที่สมองซีกซ้าย ผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติของการใช้ภาษาร่วมด้วย เช่น พูดไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่อง เนื่องจากสมองซีกซ้ายเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาด้วย

     เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง มักเกิดที่สมองซีกใดซีกหนึ่ง อาการจึงเกิดขึ้นกับร่างกายด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมีได้หลายอย่างมาก เพราะสมองเป็นศูนย์ควบคุมระบบการทำงานทุกอย่างในร่างกาย อย่างไรก็ตามมี 3 อาการสำคัญที่สังเกตได้ และมักพบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่

1.ปากเบี้ยวข้างใดข้างหนึ่ง (แพทย์จะให้ผู้ป่วยลองยิงฟันดูว่ายิ้มแล้วปากทั้งสองข้างเท่ากันหรือไม่)

2.อ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาตครึ่งซีก (แพทย์จะให้ผู้ป่วยยกมือขึ้น ถ้ามือตกหรือยกไม่ขึ้นเลยแสดงว่า เป็นอัมพาตครึ่งซีก) 

3.พูดผิดปกติ เช่น ลิ้นแข็ง พูดไม่ออก พูดตะกุกตะกัก พูดไม่ชัด หรือพูดไม่รู้เรื่อง

     ดังนั้นหากจู่ๆ มีอาการปากเบี้ยวหรืออ่อนแรงครึ่งซีก หรือพูดผิดปกติไป ให้รีบมาโรงพยาบาลทันทีเพื่อตรวจดูให้แน่ใจว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือเปล่า เนื่องจากสมองของมนุษย์ค่อนข้างบอบบาง เมื่อสมองขาดเลือดหรือมีเลือดออกในสมองเพียงครู่เดียว เซลล์สมองจะเริ่มตายลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุด ยิ่งรักษาเร็ว ผลการรักษาก็จะยิ่งดี

รักษายิ่งเร็ว ยิ่งดี

     ปัจจุบันมีวิธีรักษาโรคหลอดเลือดสมองหลายรูปแบบ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหลอดเลือดอุดตัน แพทย์จะพยายามแก้ปัญหาการอุดตันของหลอดเลือดให้เร็วที่สุด โดยการให้ “ยาละลายลิ่มเลือด”แต่การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด จะต้องทำภายในเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมงครึ่งหลังจากเกิดอาการยกตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยมีอาการตอน 08.00 น. แล้วมาถึงโรงพยาบาล 08.30 น. เมื่อได้รับยาละลายลิ่มเลือดเร็ว โอกาสหายก็เพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลตอนเที่ยง (ใกล้ครบ 4 ชั่วโมงครึ่ง) ก็ยังสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ แต่ผลการรักษาที่ได้อาจไม่ดีเท่ากับผู้ที่มาถึงโรงพยาบาลเร็ว

     ในกรณีที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินกว่าจะใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการรักษาอีกรูปแบบหนึ่งคือ การใช้อุปกรณ์พิเศษใส่เข้าไปในสมอง เพื่อนำลิ่มเลือดที่อุดตันออกมา วิธีนี้สามารถทำได้ในผู้ป่วยที่มาถึงโรงพยาบาลภายใน 6-8 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ แต่ถ้ามาหลังจาก 8 ชั่วโมงไปแล้ว ก็จะมีวิธีการรักษาอื่นๆ เช่น การให้ยารับประทาน การดูแลเรื่องความดันโลหิต และปัจจัยอื่นๆ เพื่อไม่ให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง

     ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลไม่ทันภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนใหญ่เป็นเพราะมัวรอดูอาการก่อน เนื่องจากคิดว่าไม่เป็นอะไร อีกสักพักอาจจะหายได้เอง ที่พบบ่อยคือ ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านกันเอง หรืออยู่บ้านคนเดียว มักจะเกรงใจลูก ไม่อยากโทรไปรบกวน รอจนกระทั่งลูกกลับมาบ้านในตอนเย็น

     ซึ่งกว่าลูกจะกลับมาถึงบ้านแล้วพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลก็เลยเวลาที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดไปแล้ว จึงอยากฝากถึงผู้ป่วยทุกคนว่า ไม่ต้องเกรงใจลูก เพราะยิ่งรอช้า ลูกจะต้องดูแลท่านหนักกว่าเดิม แทนที่จะรักษาหายตั้งแต่ต้น กลายเป็นว่า ต้องมาดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำ การเกรงใจในตอนนั้นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น มีแต่แย่ลงกว่าเดิม

     เพราะฉะนั้นเมื่อมีอาการ ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที และควรเลือกโรงพยาบาลที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด จะมีศักยภาพในการรักษามากกว่า เพราะโรงพยาบาลขนาดเล็กอาจไม่พร้อมให้การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง จึงทำให้เสียเวลาไปอย่างน่าเสียดาย

การรักษาต้องต่อเนื่อง

     หลังจากได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยยังคงต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง การที่สมองจะฟื้นตัวได้ดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าสมองถูกทำลายไปมากน้อยแค่ไหน ถ้าถูกทำลายไปมากก็จะฟื้นตัวลำบาก แต่ถ้าถูกทำลายไปเพียงจุดเล็กๆ ก็จะฟื้นตัวได้ง่าย นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพสมองที่มีอยู่เดิมด้วยว่า ดีมากน้อยแค่ไหน อย่างในผู้สูงอายุที่สมองของเดิมเริ่มฝ่อบ้างแล้ว การฟื้นตัวจะยากกว่าในคนอายุน้อยที่สมองตอนก่อนเกิดโรคยังดีอยู่ การรักษาต่อเนื่องสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่

1.การฟื้นฟู แบ่งเป็น การฟื้นฟูทางด้านกายภาพ มีความจำเป็นในผู้ป่วยที่ยังมีความพิการหลงเหลืออยู่ การฟื้นฟูในระยะยาวต้องอาศัยการให้ยา การดูแลอย่างใกล้ชิดและการทำกายภาพบำบัดซึ่งสำคัญมาก เพราะการทำกายภาพบำบัดจะช่วยให้สมองค่อยๆ ปรับตัว แม้ว่าสมองส่วนที่เสียไปแล้วจะไม่สามารถฟื้นกลับคืนมาได้ แต่สมองส่วนอื่นที่เหลืออยู่สามารถปรับหน้าที่มาทำงานแทนสมองส่วนที่เสียไปได้

แต่ต้องอาศัยการฝึกการทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ การฟื้นฟูทางด้านจิตใจและสังคม อันนี้สำคัญมาก เพราะผู้ป่วยบางรายเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อป่วยด้วยโรคนี้และไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมได้ ต้องมีผู้ดูแล ผู้ป่วยจะเกิดความเครียดหรือซึมเศร้า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ฟื้นตัวได้ไม่ดี จึงต้องดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

2.การป้องกันไม่ให้โรคเกิดซ้ำ เนื่องจากถ้าเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองครั้งหนึ่งแล้ว จะมีความเสี่ยงสูมากที่จะกลับเป็นซ้ำอีก ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาดควบคู่กับการดูแลควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ควบคุมความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และระดับไขมันในเลือดไม่ให้สูง เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เป็นต้น

เทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยในการรักษา

ปัจจุบันยังคงมีการศึกษาวิจัยหาแนวทางและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น เช่น การนำ Stroke Robot มาใช้ เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถประเมินลักษณะอาการของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ แม้ไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาล และสามารถให้คำแนะนำในการรักษาแก่ทีมแพทย์ที่อยู่กับผู้ป่วยในขณะนั้นได้อย่างทันท่วงที สำหรับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีการนำเทคโนโลยี Stroke Robot มาใช้ได้ประมาณ 6 เดือนที่แล้ว พบว่าได้ผลดีและมีประโยชน์ในแง่ของการรักษาอย่างมาก

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่พบได้บ่อย วิธีที่ดีที่สุดคือ “ป้องกัน” ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างเรารู้ได้ด้วยตัวเอง เช่น อายุที่มากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างต้องอาศัยการไปตรวจสุขภาพจึงจะรู้ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือด การดูแลควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างชัดเจน 

แต่ถ้าป่วยด้วยโรคนี้แล้วก็อย่าพึ่งท้อแท้ใจ เพราะสมองจะค่อยปรับตัวดีขึ้นได้ ควรดูแลตัวเองให้ดี รวมทั้งให้ความร่วมมือในการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์

หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย