ไข้ซิกา หญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงต้องระวัง | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

ไข้ซิกา หญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงต้องระวัง

Date : 1 February 2016

ตามที่ได้มีการรายงานข่าวการแพร่ระบาดของโรคไข้ซิกา (Zika virus disease) ณ วันที่ 16 มกราคม 2559 พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไข้ซิกา 20 ประเทศ ดังนี้ บาร์เบโดส โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ เฟรนซ์เกียนา กัวเดอลุป กัวเตมาลา กายอานา เฮติ ฮอนดูรัส เกาะมาร์ตีนิก เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย เปอร์โตริโก ซูรินาเม เกาะเซนต์มาร์ติน และเวเนซูเอลา

สำหรับประเทศ พบผู้ป่วยโรคไข้ซิกาครั้งแรกในปี พ.ศ.2555 ข้อมูลเมื่อสิ้นปี พ.ศ.2558 มีผู้ป่วยยืนยันเฉลี่ยปีละ 5 ราย โดยพบการติดเชื้อกระจายทุกภาค ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง โดยมีอาการไข้ มีผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ แต่ในหญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากการติดเชื้อนี้อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ทำให้มีความเสี่ยงต่อการพิการแต่กำเนิด มีขนาดศีรษะที่เล็กผิดปกติ (microcephaly) หรือเสียชีวิตได้ 

ทั้งนี้สาเหตุหลักของการติดเชื้อเกิดจากการโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัดและช่องทางอื่นๆที่เป็นไปได้ เช่น การแพร่ผ่านทางเลือด แพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์ ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อในประเทศไทยมีความเป็นไปได้เล็กน้อยถึงปานกลางโดยอาจมีผู้ติดเชื้อทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ รวมถึงอาจมีผู้ติดเชื้อจากประเทศไทยเดินทางไปต่างประเทศเนื่องจากมีชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้าออกพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคในหลายรูปแบบ

ทั้งนี้ได้เตรียมการเฝ้าระวังโรค โดยแบ่งเป็น 4 ด้านสำคัญ ดังนี้
1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา
2.การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา
3.การเฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด
4.การเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท

กรมควบคุมโรคจึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้เดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคให้ระมัดระวังป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด และใช้ยาทาป้องกันยุงกัด หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีรายงานการระบาด แต่หากจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ และระมัดระวังมิให้ถูกยุงกัด ส่วนผู้เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดรวมถึงหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในประเทศไทย หากมีอาการข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป

 
แหล่งที่มาอ้างอิง: สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์