มะเร็ง ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

มะเร็ง ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

Date : 4 February 2016

ตั้งแต่เล็กจนโต เรามีทัศนคติที่ไม่ดีมากมายเกี่ยวกับโรคมะเร็ง บางคนคิดว่ามะเร็งเป็นโรคที่ใครเป็นแล้วจะต้องเสียชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น หากทราบข่าวว่าใครเป็นโรคมะเร็ง ก็จะมีการแสดงความเห็นอกเห็นใจและสงสารห่วงใยผู้ที่เป็นโรคมะเร็งขึ้นมาทันที นอกจากนั้น ความหมายของโรคมะเร็งก็คือ “เนื้อร้าย” จะต้องรีบกำจัดเจ้าเนื้อร้ายดังกล่าวออกไปให้พ้นๆ เสีย

หลายคนจึงรู้สึกกลัวโรคมะเร็ง ไม่อยากเป็น และไม่อยากให้คนที่รักเป็นมะเร็งด้วยเหตุผลทั้งปวง แต่ทราบหรือไม่ว่า โรคมะเร็งนั้นไม่ได้ร้ายกาจกว่าโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจเลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามโรคมะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ มีจำนวนผู้ที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็งมากอย่างไม่น่าเชื่อ ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันนี้ วิทยาการทางการแพทย์ด้านการรักษาโรคมะเร็งยังก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

ตรวจพบเร็ว รักษาเร็ว หายเร็ว
ศ.นพ.พิทยภูมิ ภัทรนุธาพร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาและโรคมะเร็ง ประจำศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ หรือ SiPH กล่าวว่า “ปัจจุบันนั้นโรคมะเร็งส่วนใหญ่สามารถรักษาหายได้ แต่โอกาสหายขึ้นอยู่กับความรุนแรง และลักษณะการเจริญเติบโตของมะเร็งที่พบ ในประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นทวีปยุโรปและอเมริกา มีผลสำรวจว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งลดลง เนื่องจากวิทยาการรักษาโรคมะเร็งที่ทันสมัย บวกกับความก้าวหน้าของเครื่องมือคัดกรองโรคมะเร็งต่างๆ ทำให้ตรวจพบการก่อตัวที่ผิดปกติของเซลล์เร็วขึ้น ก่อนเซล์จะผิดรูปกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ทำให้โอกาสในการรักษามีมากขึ้นตามไปด้วย”


สิ่งที่สำรวจพบนี้ตรงข้ามกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ที่พบว่าผู้ป่วยมะเร็งยังคงมีอัตราการเสียชีวิตสูง โดย ศ.นพ.พิทยภูมิ ให้เหตุผลว่า สาเหตุนั้นมาจากวิทยาการและความทันสมัยของเครื่องมือแพทย์ยังด้อยกว่า ดังนั้นการตรวจพบเซลล์มะเร็งจึงช้ากว่า พบเมื่อเซล์ผิดรูปนั้นก็ได้กลายเป็นเนื้อร้ายไปแล้ว การรักษาเมื่อเกิดการลุกลามแล้วจึงยากกว่าการรักษาแต่ต้น โอกาสหายเป็นปกติจึงน้อยลง แนวทางที่จะรอดจากมะเร็งก็คือ “ลด” การเกิดด้วยการ “ค้นหา” ให้พบเร็วที่สุด เพื่อหาวิธีรักษาให้หาย นี่คือความหวังในการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งนั่นเอง
                 
ศ.นพ.พิทยภูมิ เสริมอีกว่า ข่าวดีสำหรับประเทศไทยคือ ปัจจุบันมีศูนย์มะเร็งเกิดขึ้นมากมายในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการในการรักษาโรคมะเร็งของประชากรที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยศูนย์มะเร็ง SiPH ก็ถือเป็นอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีความพร้อมทั้งเครื่องมือและเทคโนโลยีในการรักษา และมีความครบถ้วนทั้งองค์ความรู้ของแพทย์และบุคลากรหลายสาขา ซึ่งมีการวางแผนการรักษาร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Multidisciplinary Care” และยังโดดเด่นด้วยความเป็นสถาบันที่รวมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งสั่งสมประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของการเป็นโรงเรียนแพทย์จากรุ่นสู่รุ่น จึงมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งครบทุกสาขาในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่มีความหลากหลายกว่า 200 ชนิด
               
ยิ่งไปกว่านั้น พบว่าปัจจุบันความเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนจากการรักษานั้นลดลง เนื่องจากความก้าวหน้าในการผ่าตัด รวมทั้งความเชี่ยวชาญของวิสัญญีแพทย์ ทำให้โอกาสในการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ดีขึ้น โดยวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ดีนั้นมี 3 ประเภทหลัก ได้แก่ การผ่าตัด การรักษาด้วยการให้ยา และการฉายรังสี ยกตัวอย่าง เช่น การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยหุ่นยนต์ (ดาวินชี) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาดีเยี่ยม โดยช่วยให้แผลผ่าตัดเล็กลง เสียเลือดน้อยลง และสามารถเก็บรักษาปลายประสาทไว้ได้มากกว่าวิธีผ่าตัดแบบเดิม ทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันวิวัฒนาการทางด้านยาก็มีวิธีการใหม่ คือ การใช้ยาแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) ที่ทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็ง โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติในร่างกายเช่นเดียวกับการฉายรังสี ที่สามารถฉายให้ตรงเฉพาะเป้าหมาย (ก้อนมะเร็ง) โดยไม่ทำลายเซลล์รอบข้าง รวมทั้งสามารถฉายอวัยวะที่มีความเคลื่อนไหว เช่น ปอด ตับ ขณะที่ผู้ป่วยหายใจ แต่ทั้งนี้จะต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ในการเลือกใช้วิธีการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม


น่าสนใจว่าในปัจจุบัน แนวโน้มของการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งมีสูงขึ้น เนื่องจากสามารถรักษาอวัยวะเอาไว้ เช่น หากป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ก็จำเป็นต้องตัดเต้านมทิ้ง แต่ปัจจุบันนั้นเพียงแค่ผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกจากนั้นจึงฉายรังสีซ้ำเพื่อให้หายขาด ก็จะคงสภาพทรวงอกเอาไว้ได้ หรือแทนที่จะตัดกระเพาะปัสสาวะทิ้ง ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะก็จะได้รับการฉายรังสีและให้ยาแทน เพื่อที่จะรักษากระเพาะปัสสาวะไว้ บทบาทของการฉายรังสีจึงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลายชนิด การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องถ่ายภาพโพสิตรอน (PET Scan) และการเอ็กซ์เรย์ด้วยเครื่อง MRI ซึ่งช่วยให้การรักษามีความแม่นยำยิ่งขึ้น
“ด้วยวิทยาการและเทคนิคที่ทันสมัยทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งให้หายขาดได้ อีกทั้งยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา นี่คือกระบวนการรักษาที่ศูนย์มะเร็ง SiPH  เตรียมพร้อมไว้เพื่อดูแลผู้ป่วย” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งกล่าว

“ตรวจคัดกรองมะเร็ง” รักษาแบบเชิงรุก
นอกเหนือจากความสามารถในการรักษาที่ดีแล้ว ศูนย์มะเร็ง SiPH ยังให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองค้นหาโรคมะเร็งในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงหรือกังวลสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง โดยมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการตรวจคัดกรอง ด้วยการออกแบบโปรแกรมตรวจสุขภาพสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง และ/หรือสูบบุหรี่จัด เป็นต้น
ศูนย์มะเร็ง SiPH  ยังมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดแบบใหม่ ด้วยเครื่องเอกซเรย์บริเวณทรวงอกแบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ(Low-dose CT scan) ช่วยในการตรวจหาจุดหรือก้อนมะเร็งปอดขนาดเล็กที่ไม่สามารถตรวจพบได้จากการเอกซเรย์ปอดแบบธรรมดา ทำให้ผู้ป่วยได้รับรังสีในปริมาณที่น้อยลง เมื่อเทียบกับการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วไปอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้หายขาดจากการเป็นมะเร็งก็คือ การค้นพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ดังนั้น การวินิจฉัยจึงเป็นเรื่องสำคัญทางศูนย์มะเร็ง SiPH  มีเครื่องมือในการตรวจที่มีประสิทธิภาพสูง ยกตัวอย่าง เช่น PET CT scan ซึ่งเป็นการตรวจในระดับการทำงานของเซลล์ โดยฉีดสารเภสัชรังสีที่มีอนุพันธ์กลูโคสเข้าไปในร่างกาย หากก้อนเซลล์มีการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ ก็สามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นเซลล์ที่อาจเติบโตกลายเป็นมะเร็งในอนาคต นี่จึงถือเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยในการค้นหามะเร็งที่ดี นำไปสู่การวางแผนรักษาที่เหมาะสม ทำให้โอกาสรอดชีวิตเพิ่มขึ้น ดังเช่นดาราสาวฮอลลิวู้ดชื่อดัง แองเจลิน่า โจลี ที่ตัดสินใจตัดเต้านมทิ้งเพื่อลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ หลังตรวจพบความผิดปกติของยีนที่ชื่อว่า BRCA1ซึ่งเป็นการตรวจพบในระดับพันธุกรรม แม้ยังไม่พบเนื้อร้ายด้วยซ้ำไป “จากองค์ความรู้ของบุคคลากรสู่เครื่องมือที่ศูนย์มะเร็ง SiPH มีอยู่เหล่านี้ จะทำให้โอกาสของคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ค้นพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จนกระทั่งสามารถรักษาหายได้ และทำให้คนที่เป็นมะเร็งมีโอกาสมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพได้  ด้วยกระบวนการรักษาที่ศูนย์มะเร็ง SiPH เตรียมไว้ ต่อสู้กับมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง”

แม้ในประเทศไทยยังไม่จำเป็นต้องตรวจพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม  แต่วิทยาการในปัจจุบันของนานาประเทศก็สะท้อนให้เห็นว่า  มีความก้าวหน้าในการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งเกิดขึ้นและยังคงพัฒนาวิธีการรักษาต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
 
หมั่นสังเกต-ดูแลตนเอง-ลดปัจจัยเสี่ยง ทางออกที่ดีที่สุดในการป้องกันมะเร็ง
เห็นแล้วหรือยังว่า การรักษาโรคมะเร็งเป็นเรื่องที่ง่ายและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ดังเช่นในอดีตที่ครั้งหนึ่ง ผู้คนมีความหวาดกลัววัณโรค ฉันใดก็ฉันนั้น การรักษาโรคมะเร็งในวันนี้จะพัฒนามากขึ้นไปอย่างไม่สิ้นสุด เช่น วิทยาการ “Gene mapping” ที่จะเข้ามาช่วยในการพลิกมิติของการรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดและป้องกันได้ เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้ว
แม้ว่าการป้องกันมะเร็งเป็นเรื่องยาก เนื่องจากทุกวันนี้มนุษย์มีปัจจัยเสี่ยงรอบด้านในการเกิดโรคมะเร็ง ทั้งอาหาร สิ่งแวดล้อม และกรรมพันธุ์ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับเซลล์ต้นกำเนิด แต่สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มมะเร็งในเยื่อบุต่างๆ ซึ่งพบได้บ่อย เช่น ระบบทางเดินอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งทางเดินปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม นอกจากนั้นยังมี กลุ่มมะเร็งระบบเลือด รวมทั้งกลุ่มมะเร็งเนื้อเยื่อ

แต่สิ่งที่พึงกระทำอย่างยิ่ง คือ หลีกเลี่ยงการเสพหรือรับประทานของที่ไม่มีประโยชน์ เช่น บุหรี่ สุรา ของปิ้งย่าง หรืออาหารจำพวกไขมัน เพราะจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงได้ดี แม้ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ไม่เกิดโรคมะเร็งอย่างถาวร แต่หากหยุดกระบวนการที่ไปกระทบกับเซลล์บ่อยๆ ก็จะช่วยให้เซลล์ไม่ผิดรูป หรือกลับกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ฉะนั้นความสมดุลของอาหาร 5 หมู่ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น นอกจากนั้น การออกกำลังกายเป็นประจำก็จะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง สร้างสมดุลให้อวัยวะต่างๆ ได้มากขึ้น

นอกจากนี้หากพบ 7 สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็ง  ได้แก่ การขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลง แผลที่ไม่หาย ร่างกายมีก้อนตุ่ม กลืนอาหารลำบาก ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล ไฝที่เปลี่ยนไป และไอจนเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์ทันที เหล่านี้เป็นทางเลือกที่ทำให้ลดอัตราเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะมะเร็ง ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คุณคิดอีกต่อไป

ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์