‘8 วอร์มอัพ’ ก่อนคุยเรื่องเพศกับลูก | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

‘8 วอร์มอัพ’ ก่อนคุยเรื่องเพศกับลูก

Date : 11 July 2016

รู้หรือไม่ ? สถานการณ์แม่วัยรุ่นของประเทศไทยในปี 2557 พบว่า ประชากรวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี มีอัตราการคลอดเป็น 47.9 ต่อ 1,000 หรือเท่ากับมีทารกเกิดจากแม่วัยรุ่นวันละ 334 คน !!!
“นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการคลอดซ้ำในแม่วัยรุ่น เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.3 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 12.8 ในปี 2557 แสดงให้เห็นว่าเรายังไม่ประสบความสำเร็จในการป้องกันการตั้งครรภ์”  ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง สถิติที่ชวนคนไทยหันมาตระหนักเรื่องนี้ให้มากขึ้น


จริงหรือไม่ ครอบครัวส่วนใหญ่ไม่คุย ‘เรื่องเพศ’ กับลูก ครอบครัวส่วนใหญ่มักไม่คุยเรื่องเพศกับลูก เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นคุยอย่างไร หรือคิดว่ามีข้อมูลไม่เพียงพอ หากแต่ทั้งหมดนั้น ขึ้นอยู่กับทัศนคติและความสัมพันธ์ในครอบครัวมากกว่า สังคมไทยมองว่าเรื่องเพศ เป็นเรื่องต้องห้ามและน่าอาย เหตุนี้เองจึงเป็นอุปสรรคด่านแรก ในการเริ่มคุยเรื่องเพศกับลูกหลาน


คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดใจยอมรับว่า เรื่องเพศไม่ได้หมายถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น หากแต่มันคือเรื่องของร่างกายและจิตใจ ที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกตามธรรมชาติของมนุษย์ จึงควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับลูกหลาน เตรียมให้เขามีวุฒิภาวะ ทักษะในการดูแลตัวเองตั้งแต่เด็กๆ เรื่องเพศและการใช้ชีวิตในทุกเพศทุกวัยให้ปลอดภัยจึง‘8 วอร์มอัพ’ ก่อนคุยเรื่องเพศกับลูกเป็นเรืองที่ควรสอนค่ะ


ด้านสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดทำ ‘คู่มือโอกาสทองคุยกับลูกเรื่องเพศ’ เพื่อให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจคุณพ่อคุณแม่ในการคุยกับลูกเรื่องเพศ โดยมีหลักการง่ายๆ คือ "การเปิดโอกาสคุย (ซึ่งจะช่วย) ปิดโอกาสพลาด"  ทางทีมเว็บไซต์ สสส. จึงนำ ข้อมูลบางส่วนจากคู่มือดังกล่าว มาแบ่งปัน


8 วอร์มอัพ ก่อนคุยเรื่องเพศ

1 เตรียมความคิด
คุณพ่อคุณแม่ต้องคิดว่าเราเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยมของลูก สร้างความเชื่อมั่นให้ตัวเองว่าเรื่องเพศ เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ไม่ได้หมายถึงแค่การมีเพศสัมพันธ์ ให้นึกถึงประโยชน์ที่ลูกๆ จะได้รับ เช่น ทักษะเจรจาต่อรอง รู้จักปฏิเสธ รู้จักวิธีป้องกันตัวเอง

2 เตรียมใจ
เตรียมใจให้ผ่อนคลาย อย่ากังวลเกินไปว่าลูกจะถามอะไร เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง เมื่อไม่รู้ก็บอกลูกไปตามตรง และช่วยกันหาคำตอบ เกิดเป็นกิจกรรมที่เพิ่มความใกล้ชิดในครอบครัวด้วย

3 พร้อมรับฟัง
ฟังเรื่องที่ลูกพูดอย่างตั้งใจจนจบโดยไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิด รับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกของเขา พูดคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน

4 เรียนรู้โลกของลูก
เด็กในวัยเดียวกันมีการรับรู้และมีความสามารถเฉพาะตัวที่ต่างกัน คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตว่า ลูกคบเพื่อนแบบไหน ชอบทำกิจกรรมอะไร อ่านหนังสือ หรือดูทีวีประเภทไหน เพื่อที่จะรู้จักโลกของลูกและทำให้รู้แนวทางว่าคุยเรื่องเพศอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับลูก

5 ใช้เหตุการณ์รอบตัวมาเปิดประเด็น‘8 วอร์มอัพ’ ก่อนคุยเรื่องเพศกับลูก
มีหลายๆ โอกาสที่คุณพ่อคุณแม่จะพูดคุยกับลูกได้ อาจจะเป็นการตั้งคำถามจากการดูละครร่วมกันเมื่อมีฉากเลิฟซีน คุณพ่อคุณแม่อาจลองตั้งคำถามว่า ลูกคิดอย่างไรกับฉากนี้? หรือเมื่อเห็นผู้หญิงตั้งครรภ์ ลองถามว่า ลูกคิดว่าเด็กเกิดมาจากไหน  เป็นต้น

6 ไม่ยัดเยียดข้อมูล
คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกเวลาสบายๆ ในการคุยกับลูก เช่น เดินเล่น ขับรถ นอนเล่นริมชายหาด ปล่อยให้การสนทนาลื่นไหลเท่าที่ลูกอยากคุย ไม่ควรใส่ข้อมูลให้ลูกมากเกินไป เพราะจะทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับลูก

7 ถามแบบเปิดกว้างและไม่จู่โจม
ใช้วิธีการชวนคุยแบบไม่เจาะจง ให้ลูกแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ โดยอาจชำคำถามนำ เช่น ถ้าลูกเจอเรื่องเช่นนี้บ้าง จะรู้สึกอย่างไรและทำอย่างไร

8 กฎเหล็กสอง ‘ไม่’
ไม่ล้อเลียน : เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา ไม่พูดในเชิงล้อเลียนกิริยาของผู้อื่น เช่น ตุ๊ด, กระเทย และคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองไม่ควรส่งเสริมให้เล่นบทบาทสมมุติเรื่องเพศให้เป็นที่ขบขัน เพราะเป็นการบ่มเพาะให้เด็กละเมิดสิทธิผู้อื่น นำมาสู่ปัญหาความรุนแรงทางเพศ

ไม่ขู่ : แม้ว่าอันตรายจากเรื่องเพศ ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลว่าลูกจะอยู่ในความเสี่ยง แต่ไม่ควรใช้วิธีการขู่ทำให้ลูกกลัวและขาดความมั่นใจ แนวทางที่เหมาะสมคือ อธิบายอย่างตรงไปตรงมา กระตุ้นให้คิดวิเคราะห์จากสถานการณ์ เพื่อให้ลูกติดเป็นนิสัยว่า ความปลอดภัยขึ้นอยู่กับการแสวงหาข้อมูลและการเตรียมตัวที่ดี
การคุยเรื่องเพศกับลูก เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครองควรเปิดใจคุยอย่างตรงไปตรงมา นอกจากจะเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของครอบครัวแล้ว ยังเป็นการสร้างความไว้วางใจ ความเชื่อใจ ให้ลูกด้วย


เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ team content www.thaihealth.or.th