โรคออทิสซึม (Autistic Disorder) | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคออทิสซึม (Autistic Disorder)

Date : 3 August 2016

ข้อมูลจาก : นายแพทย์จอม ชุมช่วย ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิต เขต13
ภาพจาก : pixabay.com


ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี กรมสุขภาพจิตได้จัดให้เป็นเดือนแห่งการรณรงค์เรื่องออทิสซึม หลายท่านอาจจะยังสงสัยว่าโรคนี้มีความเป็นมา หรือมีลักษณะพิเศษอย่างไร วันนี้กรมสุขภาพจิตได้นำบทความของ นายแพทย์จอม ชุมช่วย เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตเขต 13 กรมสุขภาพจิต ได้เผยแพร่บทความนี้ทางเวปป์ไซด์ thaimental.com คณะ DMH Staff กรมสุขภาพจิตเห็นว่า เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการเสนอความรู้อีกช่องทางหนึ่งต่อประชาชนผู้สนใจ จึงได้นำเสนอบทความดังกล่าวต่อไปนี้ทางเวปป์ไซด์กรมสุขภาพจิตด้วย ดังนี้

ออทิสซึม 
เป็นโรคความผิดปกติทางระบบประสาทชนิดหนึ่ง แสดงออกทางพัฒนาการทางสังคม การสื่อสาร และพฤติกรรมเบี่ยงเบนหรือผิดปกติ ความผิดปกติดังกล่าวต้องแสดงออกให้เห็นชัดเจนก่อนอายุ 3 ปี

ความชุก 
ในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาทางระบาดวิทยาของโรคออทิสซึม แต่จากรายงานความชุกที่มีผู้อ้างถึงโดยทั่วไปคือ 4-5 ต่อประชากรเด็ก 10,000 คน และจาก 2 รายงานล่าสุดจากประเทศอังกฤษ พบออทิสซึม 57.9 และ 26.1 ต่อประชากรเด็ก 10,000 คน 

มีการวิเคราะห์กันถึงสาเหตุที่ตัวเลขความชุกของออทิซึมเพิ่มขึ้นว่าเป็นเพราะมารดาตั้งครรภ์ อาจเผชิญกับมลพิษเพิ่มขึ้น เผชิญกับเชื้อไวรัสมากขึ้น หรือเด็กที่คลอดเผชิญกับมลพิษ เชื้อโรค หรือแม้กระทั้งวัคซีนต่างๆมากขึ้น แต่จากงานวิจัยต่างๆ ไม่สามารถสนับสนุนสาเหตุดังกล่าวได้ เชื่อกันว่าตัวเลขความชุกที่เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นเพราะการตระหนักของบุคลากรทางการแพทย์ต่อโรคออทิสซึมที่สูงขึ้น ซึ่งสาเหตุนี้สอดคล้องกับสถิติอายุของเด็กที่มารับการวินิจฉัยครั้งแรกที่ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ โดยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรก ในช่วงปี พ.ศ. 2535-2540 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 3-5 ปี แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2540-2545 เด็กส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 2-3 ปี

สาเหตุ 
จากหลักฐานทางการแพทย์หลายแหล่งเห็นพ้องกันว่า ออทิสซึมเกิดจากความผิดปกติในการทำหน้าที่ของสมองในบางส่วน แต่ยังไม่พบสาเหตุชัดเจน ที่ทำให้สมองนั้นทำงานผิดปกติ อย่างไรก็ตามงานวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบันบ่งชี้ไปทางความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยพบว่าหากมีลูกคนหนึ่งเป็นออทิสซึม ลูกอีกคนจะมีโอกาสเป็นถึง 3% ซึ่งโอกาสนี้สูงกว่าความชุกในประชากรทั่วไปมาก

อาการ โดยทั่วไปออทิสซึม มีความผิดปกติ 3 ด้านหลัก กล่าวคือ

1. พัฒนาการทางสังคมผิดปกติ โดยเด็กมักแสดงออกโดย ชอบเล่นคนเดียว เล่นโดยไม่สนใจคนอื่น เด็กไม่สนใจชี้ชวนให้คนรอบข้างมาเล่นหรือสนใจร่วมกับตน เด็กไม่สบตา แต่มองแบบทะลุทะลวงหรือไร้อารมณ์ เด็กมักไม่ยินดียินร้าย ไม่ใยดีกับคำชม ไม่รู้ร้อนรู้หนาว เด็กไม่สนใจที่จะเลียนแบบ และขาดการเล่นทีมีจินตนาการ เด็กบางรายที่อาการดีขึ้นอาจสนใจที่จะเล่นร่วมกับคนอื่นบ้าง แต่มักชอบที่จะเล่นกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่มากกว่า เพราะผู้ใหญ่หรือเด็กโตมักเป็นฝ่ายปรับเข้าหาเด็กออทิสซึ่มนั้นๆ บางรายอาจเล่นกับเด็กวัยเดียวกันได้ แต่เด็กออทิซึมมักจะเป็นผู้นำการเล่นโดยไม่สนใจที่จะแบ่งปันบทบาทกับเพื่อน หรือรู้จักผลัดกันเล่น หรือเล่นตามกฎกติกาที่ควรเป็น เด็กออทิซึ่มมักถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดหรือเป็นเด็กที่เล่นด้วยไม่สนุก และมักเข้าไปที่ไหนวงแตกที่นั่น นอกจากนี้เด็กออทิซึมมักไม่สนใจที่จะผูกมิตรหรือรักษามิตรสัมพันธ์นั้นๆไว้ 

2. พัฒนาการทางการสื่อสารผิดปกติ โดยส่วนใหญ่เด็กมักจะมาด้วยอาการพูดช้า หรือพูดไม่สมวัย เด็กบางรายใช้ภาษาผิดไวยากรณ์ เด็กอาจใช้โทนเสียงผิดปกติ บางคนพูดเสียงสูงหรือเสียงแหลมตลอด บางคนพูดเสียงทุ้มหรือยานคางตลอด เด็กบางรายพูดภาษาตนเองที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ บางคนชอบพูดทวน เช่น มีคนถามว่านี่ " อะไร " เด็กจะตอบว่า " นี่อะไร " เด็กบางรายมีพัฒนาการทางการสื่อสารดีขึ้น พูดได้เป็นประโยค เล่าเรื่องได้ แต่ก็ไม่รู้จักสนทนา กล่าวคือ เด็กมักจะพูดแต่เรื่องของตนเอง ไม่สนใจที่จะรับฟังเรื่องของคนอื่น 

3. มีพฤติกรรมซ้ำๆ ความสนใจจำกัด และเปลี่ยนแปลงยาก เด็กออทิสซึมมักมีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น เขย่งเท้า หมุนตัว สะบัดมือ เด็กบางรายชอบเอามืออุดหูเวลามีเสียงดังๆ เด็กมักมีความสนใจจำกัด เช่น บางรายชอบและจำโลโก้สินค้า บางรายชอบมองพัดลม ชอบมองของหมุนๆ บางรายชอบเอาของมาเรียงๆ บางรายที่มีพัฒนาการด้านต่างดีขึ้น อาจแสดงความสนใจที่ซับซ้อนและเป็นเรื่องราวขึ้น แต่ก็ยังสนใจเฉพาะเรื่อง เช่น บางรายสนใจเรื่องเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ไดโนเสาร์ วัดวาอาราม หรือวรรณคดีบางเรื่อง เช่น รามเกียรติ เป็นต้น เด็กเปลี่ยนแปลงยาก โดยตัวทำอะไรมักชอบทำตามกิจวัตรเดิม หากเปลี่ยนแปลงเด็กอาจแสดงท่าทีหงุดหงิดหรือกรีดร้องได้ 

การวินิจฉัย 
ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษๆเพื่อวินิจฉัยโรคออทิสซึม แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติและการสังเกตพฤติกรรมของเด็กโดยถือเอาความผิดปกติทั้ง 3 ด้าน เป็นเกณฑ์ และอิงหลักเกณฑ์การวินิจฉัยจากสมาคมจิตแพทย์อเมริกันหรือตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก แต่ปัจจุบันเกณฑ์การวินิจฉัยยืดหยุ่นมากขึ้น โรคออทิสซึม Autistic Disorder จัดอยู่ในกลุ่ม PDD หรือ Pervasive Devilopmenta Disorder ซึ่งแพทย์บางท่านใช้คำว่า Autistic Spectrum Disorder(ASD) PDD หรือ ASD ถือเป็นคำที่กินความกว้าง และภาวะหรือโรคในกลุ่มนี้ นอกจาก Autistic Disorder แล้วยังมี Asperger Disorder ,Rett Disorder, Childhood Disintegrativr Disorder และ Pervasive Developmental Disorder NOSทั้งหมดของ PDDหรือADD พบความผิดปกติทางพัฒนาการทางสังคมคล้ายกันแต่มีความผิดปกติปลีกย่อยต่างกันออกไป 

โดยทั่วไปในกรณีที่ชัดเจน กุมารแพทย์จะเป็นผู้ให้การวินิจฉัยได้ แต่หากเป็นกรณีที่ซับซ้อนหรือก้ำกึ่ง จิตแพทย์เด็กหรือกุมารแพทย์ทางพัฒนาการมักเป็นผู้ให้การวินิจฉัย

การรักษา 
หลักการรักษาที่สำคัญคือ การกระตุ้นพัฒนาการ โดยผู้ปกครองจะเป็นผู้ร่วมบำบัดที่สำคัญ ดังนั้นแพทย์ผู้ให้การวินิจฉัยจะต้องช่วยประคับประคองอารมณ์ของผู้ปกครองตลอดจนชี้ให้เห็นความสำคัญของผู้ปกครองด้วย เพราะผู้ปกครองหลายรายอาจเข้าใจผิดว่าหน้าที่ของการรักษาอยู่ที่บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น 

การกระตุ้นพัฒนาการ 
จะเน้นที่พัฒนาการด้านสังคมและการสื่อสาร โดยใช้หลักพฤติกรรมบำบัด เน้นการสร้างและเสริมพฤติกรรมที่ดี ร่วมกับการลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
นอกจากนี้แล้ววิธีการบำบัดเฉพาะอื่นๆ ก็มีความจำเป็นเฉพาะรายไป เช่น อรรถบำบัด(การฝึกพูด) กิจกรรมบำบัด ธาราบำบัด การใช้ยา
หากเด็กสามารถเข้าโรงเรียนได้ การศึกษาพิเศษจะเป็นหลักการสำคัญของเด็กออทิสติกทุกคนที่อยู่ในโรงเรียน

พยากรณ์โรค
เด็กออทิสติกจะมีพยากรณ์ดี หากเด็กมี IQ มากกว่า 70 และมีภาษาที่มีความหมายก่อนอายุ 4 ปี ตลอดจนพ่อแม่มีความร่วมมือและกระตือรือร้นเป็นอย่างดี โดยทั่วไปเด็กออทิสติก 10-20% สามารถโตขึ้นประกอบอาชีพและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ปกครอง นั่นหมายความว่า 80% เด็กยังต้องพึ่งพาผู้ปกครองหรือองค์กรต่างๆบ้างในระดับแตกต่าง
กันไป