ทำไม “วัณโรค” ต้องเป็นที่ปอด? | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

ทำไม “วัณโรค” ต้องเป็นที่ปอด?

Date : 8 September 2016

ข้อมูลจาก : รายการพบหมอรามา ช่วง ลัดคิวหมอ https://youtu.be/OKf2SFDcgYw
ภาพจาก : pixabay.com

ส่วนใหญ่ผู้คนจะรู้จักว่า โรคนี้เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียที่เกิดขึ้นที่ปอด จากนั้นจะเกิดอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เหมือนตามภาพยนต์ ละครต่างๆ สุดท้ายก็จะกลายเป็น “วัณโรคปอด” เหตุผลที่เรามักจะเรียกแบบนี้ เพราะว่าเชื้อวัณโรคส่วนใหญ่มักจะติดต่อผ่านทางลมหายใจ ทำให้เชื้อมักเกิดที่ปอดเป็นอย่างแรก ฉะนั้นจึงกลายเป็นอาการที่ทุกคนรู้จักกัน

ปัจจุบันวัณโรคสามารถเกิดการติดเชื้อที่อวัยวะอื่นๆ ได้ เช่น เยื่อหุ้มสมอง เนื้อสมอง เยื่อหุ้มหัวใจ กระดูกสันหลัง ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง มดลูก อัณฑะ หรืออาจจะบอกได้ว่าไปได้ทุกส่วนของอวัยวะในร่างกาย เชื้อตัวนี้เราเรียกว่าเป็นลักษณะของ เชื้อโรคเลียนแบบ (Great Imitator) คือสามารถเลียนแบบโรคอื่นๆ ได้หลายโรค

เชื้อแบคทีเรียของวัณโรคปอดนั้นแตกต่างจากเชื้อแบคทีเรียทั่วๆ ไป คือ สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี มีการติดต่อผ่านทางลมหายใจ และยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อ HIV ที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะพบว่าตัวเองมีเชื้อวัณโรคแฝงอยู่ หรือคนไข้อาจจะรู้ตัวเองว่ามีเชื้อ HIV ในภายหลัง จากการที่มีอาการของวัณโรคก็เป็นไปได้

ส่วนใหญ่คนเราที่ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไป ก็อาจจะมีเชื้อวัณโรคนอนอยู่ในร่างกาย แต่ไม่แสดงตัวออกมาเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันของร่างกายกดไว้ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ HIV จะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง เชื้อวัณโรคก็จะออกมาก่อโรคได้ทุกอวัยวะตามที่กล่าวข้างต้น

อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ใช้ยาเคมีบำบัด ผู้ที่เป็นมะเร็ง ผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ก็มีโอกาสติดเชื้อวัณโรคเพิ่มมากขึ้น แม้แต่คนที่ดูเหมือนเป็นคนปกติแข็งแรงดีก็พบว่ามีการติดเชื้อวัณโรคที่ปอด หรืออวัยวะต่างๆ ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเชื้อโรคมีการอุบัติใหม่ จากเดิมที่ว่าเกือบจะหายไปแล้ว พอมีการระบาดของเชื้อ HIV มากขึ้นเชื้อวัณโรคก็กลับมาใหม่ ยังไม่นับรวมกับเชื้อที่ดื้อยาที่มีมากขึ้นด้วยและการรักษาก็ยุ่งยากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า

อาการที่น่าสงสัยว่าเราจะติดเชื้อวัณโรคปอดมีได้หลายแบบ ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการไอ มีแต่ไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เย็น หรือกลางคืน มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวง่าย น้ำหนักลด ไม่มีแรง ทานไม่ได้ ซึ่งผู้ป่วยมักจะคิดว่าตัวเองทำงานหนัก ไม่ได้พักผ่อน ไม่ได้นึกถึงว่าตัวเองจะเป็นวัณโรคปอดหรือปล่าว หากมีอาการดังกล่าวที่ว่านี้ หรือมีญาติ มีเพื่อนเป็นวัณโรค แนะนำให้มาตรวจกับแพทย์ก็จะสามารถทราบได้ ไม่ควรปล่อยไว้นานๆ เพราะโรคนี้ถือว่าอันตราย ถึงขั้นเสียชีวิตได้

ขอขอบคุณข้อมูลและคำแนะนำจาก: อ.นพ.ประวัฒน์ จันทฤทธิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ และ อ.ดร.นพ.ศักดา อาจองค์ วัลลิภากร กลุ่มสาขาระบาดวิทยาคลินิกและชีวะสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล