มะเขือเทศต้านมะเร็งต่อมลูกหมาก | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

มะเขือเทศต้านมะเร็งต่อมลูกหมาก

Date : 12 September 2016

ข้อมูลจาก : ศาสตราจารย์นายแพทย์วชิร คชการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ภาพจาก : pixabay.com

อาหารไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการเกิดและลุกลามของมะเร็ง ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก

ปัจจุบันมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคที่อยู่ในความสนใจของประชาชน อาจเป็นเพราะว่ามีอัตราการตรวจพบได้มากขึ้นและมีการให้ความรู้มากขึ้น และหนึ่งในคำถามที่พบบ่อยสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก คืออาหารประเภทใดที่มีผลต่อมะเร็งต่อมลูกหมากและมีผลอย่างไร มีอาหารที่ช่วยชะลอการกระจายตัวและลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ ซึ่งจากการศึกษาและการนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน พบว่า อาหารไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการเกิดและลุกลามของมะเร็ง ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก เช่น กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงอาหารที่มีไขมันสูง เป็นต้น


กับคำถามที่ว่าอาหารประเภทใดที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้นั้น ก็พอจะมีอยู่บ้าง ซึ่งก็คือ มะเขือเทศนั่นเอง
มะเขือเทศ นอกจากจะเป็นพืชผักที่นิยมนำมาประกอบเป็นอาหารแล้ว ยังมีคุณประโยชน์ที่บางคน อาจจะไม่รู้มาก่อน นั่นคือ มะเขือเทศสามารถป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้ด้วย จากการศึกษามะเขือเทศที่นำไปปั่น แปรสภาพ หรือคั้น และนำมาดื่มทันที พบสารที่มีชื่อว่า Lycophene มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้ในระดับหนึ่ง (antioxidant) โดยในภาวะปกติการดำรงอยู่ของเซลล์มนุษย์จะเกิดอะตอมของออกซิเจนหรือ free radicals ขึ้น ซึ่งเซลล์ของร่างกายจะใช้สำหรับตอบสนองต่อการรุกรานของสิ่งแปลกปลอมหรือแบคทีเรีย แต่ในทางตรงกันข้าม free radicals ก็เป็นอันตรายต่อเซลล์เช่นกัน โดยอาจจะก่อให้เกิดการแตกสลายของ DNA ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้


จากการศึกษายังยืนยันอีกว่า ซอสมะเขือเทศสามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ถึง 33% และจากการติดตามผู้ป่วยที่ดื่มน้ำมะเขือเทศสัปดาห์ละ 2 ครั้ง นาน 12 ปี พบว่า มีอัตราการลุกลามของ มะเร็งต่อมลูกหมากลดลงถึง 35% และการกระจายตัวของมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง 36% ส่วนในมะเขือเทศสดนั้นพบว่า มีผลต่อมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่าน้ำมะเขือเทศ เนื่องจากหากไม่ผ่านความร้อนสาร Lycophene จะไม่สามารถแตกตัวออกมา อย่างไรก็ตามในการศึกษาผักผลไม้ที่มีสีเหลืองชนิดอื่นๆ เช่น แครอท มะละกอ หรือส้ม ก็ยังไม่มีผลการวิจัยเรื่องความสามารถในการต้านมะเร็งที่แน่ชัด


ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า สาเหตุการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นมีมากมายหลายประการ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อีกมากมาย อาหารการกินเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเกิดมะเร็งเท่านั้น การเลือกบริโภคอาหารจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้อัตราการเกิดโรคมะเร็งลดลง และมีโอกาสที่โรคจะลุกลามช้าลง


อย่างไรก็ตาม การดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากมะเร็งต่อมลูกหมากที่สำคัญที่สุด คือ การไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายและตรวจเลือด เพราะมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกนั้นแทบไม่มีอาการใดๆ อย่าลืม ว่าการตรวจเจอในระยะแรกๆ ย่อมให้ผลการรักษาดีกว่าระยะหลังๆ