โรคเส้นเลือดขอดในสมอง | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคเส้นเลือดขอดในสมอง

Date : 9 November 2016

ภาพจาก : ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์พิพัฒน์  เชี่ยววิทย์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

โรคเส้นเลือดขอดในสมองเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด  ที่มีลักษณะเป็นกลุ่มของหลอดเลือดที่มีขนาดผิดปกติ  โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน  คือ หลอดเลือดแดง หลอดเลือดขอด และหลอดเลือดดำที่สัมพันธ์กัน โดยหลอดเลือดแดงจะนำเลือดไปสู่บริเวณหลอดเลือดขอดและไหลเวียนออกไปทางหลอดเลือดดำ นอกจากจะพบในสมองแล้ว โรคหลอดเลือดขอดสามารถพบในตำแหน่งใด ส่วนใดของร่างกายก็ได้ โดยอัตราการเกิดโรคนี้มีไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบโรคทางหลอดเลือดสมองชนิดอื่น ๆ เช่น โรคเส้นเลือดโป่งพอง โรคเส้นเลือดตีบตัน อย่างไรก็ตามในโรงพยาบาลใหญ่ประจำจังหวัด และโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์รับระบบการส่งต่อผู้ป่วยก็จะมีโอกาสพบจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นได้ ปัจจุบันที่พบในโรงพยาบาลศิริราชประมาณ 1 รายต่อสัปดาห์ 

สาเหตุของการเกิดโรคเส้นเลือดขอด
สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดขอดนั้นยังไม่ทราบชัดเจน สำหรับโรคหลอดเลือดขอดในสมองนั้น เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งอาจจะเกิดในระยะเป็นตัวอ่อนภายในครรภ์มารดา  นอกจากนี้พบว่าหลอดเลือดขอดบางชนิดมีความสัมพันธ์กับโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้  สำหรับสาเหตุอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ อุบัติเหตุ พบประปรายเท่านั้น จึงสรุปได้ว่าเป็นโรคทางพันธุกรรมได้โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดหลายตำแหน่งในร่างกาย เช่น ที่ปอดและในสมอง หรือพบหลอดเลือดขอดหลายตำแหน่ง  (มากกว่า 2 ตำแหน่ง) ในสมอง

ลักษณะอาการของโรคที่ผิดปกติ  
โรคหลอดเลือดนี้สามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ นับตั้งแต่ภายในครรภ์มารดาจนถึงผู้ป่วยอายุมากกว่า 60 ปี เป็นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิงไม่แตกต่างกัน ที่สังเกตเห็นได้ จะแยกตามกลุ่มอายุ ดังนี้

  • ในผู้ป่วยเด็ก อาการผิดปกติที่พบได้  เช่น ศีรษะขนาดใหญ่ขึ้น มีเส้นเลือดสีคล้ำบริเวณใบหน้า หรือมีอาการหัวใจล้มเหลว แต่อาการทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีความจำเพาะสำหรับโรคเส้นเลือดขอด ซึ่งไม่สามารถนำมาสรุปได้ทันทีว่าเป็นโรคเส้นเลือดขอดในสมอง
  • ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ อาการที่ปรากฏภายนอกในกลุ่มนี้ไม่ชัดเจน ยกเว้นอาจมีปานแดงบริเวณใบหน้าและลำคอ ส่วนใหญ่แล้วอาการที่จะนำผู้ป่วยมาพบแพทย์มี 3 ประการด้วยกัน คือ

           1. มีอาการชัก พบมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วย
           2. มีอาการปวดศีรษะ พบได้ถึงร้อยละ 30  ของผู้ป่วย
          3. มีอาการทางสมอง เช่น หมดสติจากเส้นเลือดขอดในสมองแตก หรือมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตของแขนขาซีกใดซีกหนึ่ง เป็นต้นและเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยเด็ก ที่กลุ่มอาการแสดงภายนอกเหล่านี้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถจะให้การวินิจฉัยผู้ป่วยว่าเป็นโรคหลอดเลือดขอดได้

มีวิธีการรักษาอย่างไร  
เนื่องจากอาการแสดงภายนอกของผู้ป่วยไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจนทุกราย จึงมีความจำเป็นต้องมีการส่งตรวจเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่  การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT)  การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า  (MRI)  และการตรวจหลอดเลือดสมองโดยตรง  เนื่องจากเป็นวิธีที่เห็นหลอดเลือดได้ชัดเจน ก่อนนำไปสู่การวางแผนรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมถูกต้องต่อไป
สำหรับการรักษาที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันมี 3 วิธี คือ

  • การรักษาโดยการผ่าตัดสมอง เพราะเป็นวิธีการรักษาที่มีมานานจนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังเป็นที่ยอมรับในการรักษาโรคหลอดเลือดขอด
  • การรักษาผ่านทางหลอดเลือด หรือที่เรียกกันว่ารังสีร่วมรักษาเป็นการรักษาที่คล้ายขั้นตอนการตรวจหลอดเลือดสมอง โดยเพิ่มขั้นตอนการรักษาโดยใช้สายสวนหลอดเลือดเข้าไปถึงบริเวณเส้นเลือดขอด แล้วฉีดสารอุดตันในการรักษา
  • การฉายรังสีแกมมาไนฟ์ (Gamma knife)  หรือ เอกซ์-ไนฟ์ (x-knife) เป็นการรักษาที่สามารถทำให้เส้นเลือดฝ่อตัวลงจนอุดตันได้  สำหรับวิธีนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อหลอดเลือดขอดมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 2 เซนติเมตร หรือไม่สามารถใช้ 2 วิธีแรกได้สำหรับระยะเวลาในการรักษานั้น ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้ ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ คือ  ขนาดและตำแหน่งของโรคหลอดเลือดขอด รวมทั้งวิธีการรักษา โดยถ้ามีขนาดไม่ใหญ่นักและอยู่บริเวณผิวชั้นนอกของสมองก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ในระยะเวลาสั้น แต่ถ้าโรคมีขนาดใหญ่หรืออยู่ในตำแหน่งสมองส่วนลึก  ก้านสมองก็อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่าคือ ต้องรักษาเป็นช่วง ๆ หลายครั้ง ๆ  ครั้งละ 3-7 วัน  เป็นต้น  มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้  ผู้ป่วยส่วนใหญ่รักษาให้หายขาดได้ไม่ทั้งหมด สามารถรักษาเฉพาะส่วนที่จะก่อให้เกิดอันตราย เพื่อที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดขอดบางรายจะสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

การปฏิบัติตนควรทำอย่างไร
โรคหลอดเลือดขอดอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยอันเนื่องจากอาการชัก ซึ่งผลของการชักอาจจะทำให้ผู้ป่วยหมดสติ ขาดการหายใจหรือเกิดอุบัติเหตุในขณะขับขี่ยานพาหนะได้  อาการเลือดออกในสมองซึ่งถ้าปริมาณเลือดที่ออกมากอาจกดต่อเนื้อสมองที่ปกติ  ซึ่งถ้าเลือดออกปริมาณมากอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นเลือดขอดในสมองควรปฏิบัติตนตามปกติ รวมทั้งพยายามลดความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ  ถ้ามีอาการชักให้รับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ  ควรงดการขับขี่ยวดยานพาหนะ  ในเรื่องของอาหารสามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย   การออกำลังกายสามารถทำได้แต่ไม่ควรหักโหม รวมทั้งสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ  ในเพศหญิงที่ต้องการมีบุตร  ควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูแลระหว่างการตั้งครรภ์ เนื่องจากระหว่างการตั้งครรภ์จะเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในสมองจากหลอดเลือดขอดได้ง่ายขึ้น

การป้องกันโรคทำได้อย่างไร
ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคเส้นเลือดขอดในสมอง  มีเพียงวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการชัก  โดยการรับประทานยากันชักตามที่แพทย์กำหนดอย่างสม่ำเสมอ  และมีเพียงป้องกันไม่ให้เลือดออกในสมองโดยการรักษาโรคเส้นเลือดขอดในสมองโดยวิธีใดวิธีหนึ่งใน 3 วิธีที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ขอเรียนให้ทราบว่า โรคหลอดเลือดขอดในสมองเป็นโรคที่พบได้ทั่ว ๆ ไป ซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับคนได้ทุกเพศทุกวัย โดยมักจะมีอาการแสดงของโรค คือ ปวด ศีรษะ ชัก  อาการทางระบบประสาท และจัดว่าเป็นโรคชนิดที่สามารถรักษาให้หายขาดได้  ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและถูกวิธี