รักษาลิ้นหัวใจตีบผู้สูงอายุ ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

รักษาลิ้นหัวใจตีบผู้สูงอายุ ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

Date : 17 November 2016

ข้อมูลจาก : ผศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ ศัลยแพทย์ด้านทรวงอกและหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : pixabay.com

จากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันอุบัติการณ์ของโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ก็เพิ่มขึ้น รวมถึงโรคลิ้นหัวใจตีบที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของลิ้นหัวใจ ฉะนั้นการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและคงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ

รู้จักลิ้นหัวใจตีบ
ในอดีตมักพบว่าโรคลิ้นหัวใจตีบ เกิดจากโรครูห์มาติค ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุไม่มาก แต่ในปัจจุบันโรคนี้มักเกิดจากการเสื่อมสภาพของลิ้นหัวใจ ยิ่งผู้ป่วยมีอายุมากขึ้นเท่าไร อุบัติการณ์ของโรคลิ้นหัวใจตีบก็จะสูงขึ้นเท่านั้น   

ลิ้นหัวใจ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของหัวใจ ในขณะที่หัวใจกำลังบีบตัวเมื่อเลือดไหลผ่านออกไป ลิ้นหัวใจจะปิดไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับมา จึงทำหน้าที่เสมือนประตูปิด/เปิดควบคุมให้เลือดในหัวใจไหลไปทิศทางเดียวสู่ปอดเพื่อฟอกออกซิเจน แล้วไหลกลับสู่ระบบโลหิตอีกครั้ง เมื่อมีปัญหาของลิ้นหัวใจรั่วเลือดจะไหลย้อนกลับมา แต่ถ้าลิ้นหัวใจตีบเลือดจะไหลผ่านลิ้นหัวใจได้ลำบาก ในผู้สูงอายุสาเหตุเกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เนื่องจากลิ้นหัวใจเป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหวและรับแรงดันจากเลือดตลอดเวลา ดังนั้นจึงเกิดการเสื่อมขึ้นอาจมีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจหนาขึ้นและเปิดได้น้อยลง ผู้ป่วยจะเกิดอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ใจสั่น ขาบวม ตามมาด้วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ เสียงฟู่บริเวณลิ้นหัวใจ จนถึงขั้นเป็นลมหมดสติบ่อย ๆ ยิ่งลิ้นหัวใจตีบมากหัวใจก็ยิ่งไม่สามารถจะบีบเลือดออกสู่ร่างกายได้ ทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งและหัวใจล้มเหลวในที่สุด หรือภาวะน้ำท่วมปอดนั่นเอง โดยสถิติแล้วเมื่อผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจตีบมีสภาวะหัวใจล้มเหลว จะมีโอกาสเสียชีวิตภายใน 2 ปี สูงถึง 50% 

การรักษา
สำหรับวิธีการรักษานั้น วิธีรักษาโรคลิ้นหัวตีบที่เป็นมาตรฐานทั่วโลกคือ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เป็นการรักษาที่ได้ผลดีเยี่ยม ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตเพียง 1–2% เท่านั้น อย่างไรก็ตามยังมีผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจตีบรุนแรงจำนวนหนึ่ง ที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เช่น ผู้ป่วยที่มีอายุมาก ๆ หรือผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดในช่องอกมาก่อน รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรค ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีโอกาสเสียชีวิตจากการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจได้สูงถึง 20% หรือมากกว่า เป็นเหตุให้ผู้ป่วยหลายรายมักจะไม่ได้รับการส่งต่อไปยังศัลยแพทย์หรือหมอผ่าตัด หรือไม่ก็ถูกปฏิเสธการผ่าตัดไปเสียก่อน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงเพราะหัวใจที่ต้องบีบเลือดผ่านลิ้นหัวใจที่ตีบจะค่อย ๆ ล้มเหลว และผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด 

น่ายินดีที่วิทยาการทางการแพทย์ปัจจุบัน สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยลิ้นหัวใจตีบรุนแรงกลุ่มนี้ให้รอดชีวิตได้ ด้วยการใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนเข้าไปแทนที่ลิ้นเดิมที่เสื่อมสภาพโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากวิธีผ่าตัดที่ใช้กันในปัจจุบัน คือต้องดมยาสลบ ผ่าตัดเปิดกระดูกหน้าอกแล้วใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมทำงานแทนหัวใจกับปอด ซึ่งระหว่างที่ศัลยแพทย์ตัดลิ้นหัวใจเก่าออกและเย็บลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปแทนที่จะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง และอยู่โรงพยาบาลพักฟื้นประมาณ 7-10 วันถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น   

ส่วนวิธีการใหม่จะใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวน โดยจะนำลิ้นหัวใจเทียมแบบใหม่ที่ทำจากเนื้อเยื่อ และได้รับการออกแบบให้สามารถหดและขยายตัวได้มาใส่ที่ปลายของสายสวน จากนั้นใช้สายสวนนำลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปอยู่ระหว่างลิ้นหัวใจเดิม แล้วจึงทำการขยายลิ้นหัวใจเทียมด้วยบัลลูนให้ขยายใหญ่ขึ้นคล้าย ๆ กับการกางร่ม ลิ้นหัวใจเทียมที่กางขยายออกจะเข้าไปแทนที่ลิ้นหัวใจเดิมที่เสื่อมสภาพแล้ว ซึ่งวิธีการใส่สายสวนสามารถใส่ผ่านขาหนีบ หรือในกรณีที่เส้นเลือดบริเวณขาหนีบเล็กเกินไป จะใส่ผ่านแผลเล็กที่ชายโครงเข้าไปทางปลายหัวใจโดยตรง โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดกระดูกหน้าอก ไม่ต้องใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมและไม่ต้องหยุดหัวใจ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น อีกทั้งผู้ป่วยพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 4–5 วัน 

โรคนี้ถือเป็นภัยเงียบ ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยจะไม่แสดงอาการ จนกว่าหัวใจจะทนรับกับปริมาณเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาและเสียชีวิตในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที