ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี

Date : 18 November 2016

ข้อมูลจาก : เว็บไซต์กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ภาพจาก : pixabay.com

“กรมควบคุมโรค” จับมือ 13 หน่วยงาน ลงนาม MOU ความร่วมมือเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีฯ หลังพบว่าหากกินยา “เพร็พ” ทุกวัน จะป้องกันการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 90

นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ“การพัฒนารูปแบบบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี ในประเทศไทย” ณ โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งภายในงานได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาระบบบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ด้วยยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี ของระบบบริการสาธารณสุข ของประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กับเครือข่าย 13 หน่วยงาน

นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินงานเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ซึ่งมีการวิจัยที่สำคัญพบว่า การกินยาต้านไวรัสเพื่อการป้องกัน Pre-Exposure Prophylaxis หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า PrEP (เพร็พ) คือ การลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีโดยการกินยาต้านไวรัสทุกวันก่อนสัมผัสเชื้อ โดยร่วมกับมาตรการป้องกันอื่นๆ ทำให้มีประสิทธิผลในการลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประชากรหลักที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สาวประเภทสอง ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด คู่ชายหญิงที่มีผลเลือดต่าง เป็นต้น

จากการศึกษาหลายการศึกษาสรุปว่า การกินยาเพื่อการป้องกันการติดเชื้อให้ได้ผลดีที่สุดในขณะนี้ คือการกินยาวันละหนึ่งเม็ดทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะป้องกันการติดเชื้อได้กว่าร้อยละ 90 สำหรับประเทศไทย ได้มีแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ปี 2557 แนะนำการใช้เพร็พเพื่อการป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรหลักที่มีความเสี่ยงสูงข้างต้น และเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทั่วประเทศ ในการจัดบริการเพร็พเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตามเนื่องจากเพร็พยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้จากชุดสิทธิการรักษาพยาบาลใดๆ ได้ เนื่องจากผู้ที่ต้องการกินยาเพร็พไม่ใช่ผู้ป่วย เพราะฉะนั้นผู้รับบริการจะต้องรับภาระด้านค่าใช้จ่ายเองก่อน ซึ่งการให้กินยาเพร็พฟรีในประเทศไทย ยังจำกัดอยู่เฉพาะในโครงการเท่านั้น