อย่างไรเรียก! เลือดออกผิดปกติ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

อย่างไรเรียก! เลือดออกผิดปกติ

Date : 27 December 2023

ข้อมูลจาก : ผศ.นพ.ชัยเจริญ ตันธเนศ ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : pixabay.คอม

หลาย ๆ ท่านคงเคยมีประสบการณ์ “เลือดออก” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย 

การเกิดเลือดออกที่เราเคยประสบมา อาจเป็นแบบเลือดออกชัดเจน ที่เห็นเลือดไหลเป็นหยด ๆ  หรือในบางครั้งเลือดอาจจะไม่ได้ออกมาให้เห็นภายนอก แต่จะเป็นลักษณะเลือดที่ออกใต้ชั้นเยื่อบุและผิวหนัง 

ในทางการแพทย์ เราแบ่งภาวะเลือดออกเป็น 2 แบบใหญ่ ๆ ได้แก่

1. ภาวะเลือดออกทางศัลยกรรม เป็นภาวะเลือดออกที่เกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล เช่น ถูกมีด

บาดนิ้วก็จะมีเลือดออกที่แผลบริเวณนั้นอันเนื่องมาจากการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ  หากแผลใหญ่มาก มีเลือดออกมาก  ก็มักต้องอาศัยการรักษาโดยวิธีทางศัลยกรรมเข้าช่วย เช่น การเย็บซ่อมแซมเนื้อเยื่อ 

2. ภาวะเลือดออกผิดปกติ เป็นภาวะเลือดออกที่ดูไม่สมเหตุสมผล  ภาวะนี้เกิดจากความผิด

ปกติของสมดุลระบบห้ามเลือดของร่างกาย ซึ่งโดยปกติแล้ว จะมีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้เกิดเลือดออกง่าย และช่วยห้ามเลือดเมื่อเกิดบาดแผล เมื่อระบบนี้เสียหน้าที่ไป ก็จะเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติขึ้นได้

ความรุนแรงของภาวะนี้ มีตั้งแต่ไม่มีอาการใด ๆ หรือในบางคนอาจจะรุนแรงมาก  ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีความเสี่ยง เช่น ใช้ยากันเลือดแข็งตัวหรือแอสไพรินอยู่  หรือบางรายไม่ทราบมาก่อนว่า ตนมีปัญหาเลือดออกผิดปกติอยู่แล้วและไปทำหัตถการ เช่น ทำฟัน ก็อาจจะมีเลือดออกได้มากกว่าปกติ


เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก เราจึงควรทราบว่า ลักษณะอย่างไรที่ถือว่าเป็นภาวะเลือดออกผิดปกติ และควรต้องมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษา

ลักษณะเลือดออกผิดปกติที่สำคัญ ได้แก่

  • เลือดออกเองโดยไม่มีสาเหตุใดๆ นำมาก่อน  มักพบในลักษณะเลือดออกใต้ชั้นเยื่อบุและ

ผิวหนัง เช่น เลือดออกในเยื่อบุตาขาว จุดเลือดออก หรือพรายย้ำ จ้ำเลือดที่ผิวหนัง 

  • เลือดออกหลายตำแหน่งพร้อม ๆ กัน โดยไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น มีเลือดกำเดาพร้อมกับเลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดออกตามผิวหนัง
  • เลือดออกปริมาณมาก ไม่สมเหตุสมผลกับสาเหตุ เช่น เดินไปชนขอบโต๊ะไม่แรง แต่กลับมีรอยช้ำขนาดใหญ่  ถูกมีดบาดเป็นแผลเล็ก ๆ แต่กลับมีเลือดออกมากและนาน หรือไปขูดหินปูน ปรากฏว่าเลือดออกมาก กลับมาบ้านแล้ว เลือดก็ยังไหลไม่หยุด
  • เลือดออกในตำแหน่งที่พบไม่บ่อย เช่น เลือดออกในข้อต่อต่างๆ เลือดออกในอวัยวะภายใน
     

หากสังเกตตนเองแล้วพบว่ามีลักษณะข้างต้น ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะเลือดออกที่ท่านสังเกตพบ อาจจะไม่ใช่เลือดออกผิดปกติก็ได้  อย่างไรก็ตาม  ควร หาเวลามาพบแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุว่า เป็นเลือดออกผิดปกติจริงหรือไม่ และมีสาเหตุจากอะไร โดยซักถามประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด หากมีลักษณะที่สงสัยจริงๆ แพทย์จะให้ผู้ป่วยตรวจเพิ่มทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด  เพื่อที่จะได้รักษาและป้องกันปัญหาแต่เนิ่นๆ