ที่มาของ“โรคไส้เลื่อน” | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

ที่มาของ“โรคไส้เลื่อน”

Date : 1 October 2015

“ไส้เลื่อน” เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะในผู้ชายซึ่งมักจะหยิบยกมาเป็นหัวข้อสนทนา หรือแซวกันขำ ๆ ว่าเป็นเพราะไม่ยอมสวมกางเกงชั้นใน แต่จริง ๆ แล้วไส้เลื่อนมีสาเหตุมากกว่านั้น
นพ.วิบูลย์ ภัณฑบดีกรณ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม รพ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี อธิบายว่า โรคไส้เลื่อน เกิดจากความเสื่อมของร่างกายซึ่งเป็นไปตามอายุ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของคอลลาเจนจากชนิดที่ 1 มาเป็นชนิดที่ 3 ทำให้ผนังหน้าท้องอ่อนแอ และเกิดเป็นภาวะไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะของผู้ชายหรือแคมใหญ่ของผู้หญิง โดยตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคเร็วขึ้นคือ ทำงานหนัก ยกของหนัก ไอจามเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง ต่อมลูกหมากโต และถุงลมโป่งพอง เป็นต้น

สำหรับอาการของโรคคือ จะมีก้อนที่บริเวณหัวหน่าว ปวดบริเวณไส้เลื่อน และอาจจะมีอวัยวะอื่น ๆ มาค้างบริเวณถุงไส้เลื่อน ส่งผลให้ใช้ชีวิตลำบาก ทั้งนี้กว่าร้อยละ 90 ของโรคไส้เลื่อนทั้งหมดเกิดขึ้นที่บริเวณขาหนีบ โดยเฉพาะผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงประมาณ 7-8 เท่า ซึ่งข้อมูลจากยุโรปพบผู้ป่วยมากถึง 7-8 แสนรายต่อปี ส่วนข้อมูลในประเทศไทยยังไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ แต่อัตราการเกิดโรคไม่ได้ทิ้งห่างจากกันมากนัก การรักษาทำได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง และผ่าตัดเปลี่ยนผนังหน้าท้องและเย็บปิดถุงไส้เลื่อนในผู้ป่วยทุกราย เพราะหากปล่อยอาการจะรุนแรงขึ้น อาจจะทำให้ลำไส้ติดขัด เน่าตาย จนทำให้เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิตได้ ดังนั้นควรรีบผ่าตัดให้เร็วที่สุด

นพ.วิบูลย์ กล่าวว่า ทั้งนี้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการดมยาสลบ หรือบล็อกหลังผู้ป่วยก่อนผ่าตัดซึ่งถือเป็นวิธีที่ได้มาตรฐาน แต่ยังมีความเสี่ยงที่เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ อาทิ การแพ้ยาสลบ การบล็อกหลังเกินขนาดอาจทำให้เสียชีวิตได้ รวมถึงการให้ยาปฏิชีวนะหลังการผ่าตัดยังทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงดื้อยาอีกด้วย นอกจากนี้ยังต้องพักฟื้นนาน ปวดแผล ปัสสาวะยาก เลือดออกในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ที่ยุโรปมีการศึกษาวิจัยการฉีดยาชาก่อนผ่าตัดเปลี่ยนผนังหน้าท้องซ่อมไส้เลื่อน โดยไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งให้ผลดีมากกว่าคือ ใช้เวลาน้อย ไม่ต้องพักฟื้นในรพ. จึงได้นำมาศึกษาต่อยอดวิธีการรักษาว่าเหมาะสมที่จะใช้กับคนไทย ที่มีสรีระ ตลอดจนสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศเมืองไทยที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงได้หรือไม่ ’เราได้ทำการศึกษาผู้ป่วยไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบของ รพ.พหลฯ 100 คน เพื่อดูว่าการให้ยาปฏิชีวนะก่อนผ่า ตัดกับไม่ให้ยาปฏิชีวนะเลยนั้นให้ผลแตกต่างกันหรือไม่ ก็พบว่าไม่ได้ให้ผลแตกต่างกันในทั้ง 2 กลุ่ม ดังนั้นจึงเห็นว่าการไม่ฉีดยาปฏิชีวนะก่อนผ่าตัดน่าจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะ 1. ไม่ต้องเสี่ยงติดเชื้อดื้อยา ซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหามาก 2. ไม่ต้องเสี่ยงแพ้ยา”

ทั้งนี้ การผ่าตัดด้วยการฉีดยาชาจะใช้เวลารวมทุกขั้นตอนแล้วไม่มาก คือ มีการตรวจอาการผู้ป่วยก่อน 1 วัน นัดวันผ่า แล้วให้กลับไปพักที่บ้าน ส่วนวันผ่าก็ไม่ต้องอดอาหาร ขึ้นเตียงฉีดยาชาแล้วลงมือผ่าตัดกินเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังผ่าตัดพักฟื้น 2-3 ชั่วโมง ก็สามารถลุกเดินได้เอง และกลับบ้านได้เลย จากนั้นก็ติดตามอาการกันผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งที่ผ่านมาไม่พบว่ามีรายใดมีปัญหา แม้แต่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนก็ยังพบว่าปลอดภัย แต่ก็มีข้อห้ามไม่ทำในคนแพ้ยาชา ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ เช่น จิตเวช เด็กและผู้ป่วยน้ำหนักเกิน 100 กก. เป็นต้น

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเดิมที่เคยต้องใช้เวลาสำหรับเตรียมร่างกายด้วยการนอนรอที่ รพ. ผ่าตัด และพักฟื้น รวมประมาณ 3-4 วัน แถมยังต้องมาเผชิญกับภาวะเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ในขณะที่วิธีการฉีดยาชานอกจากรวดเร็ว เจ็บปวดน้อย แล้วยังลดการติดเชื้อในรพ.ลงได้อย่างมาก ดังนั้นการผ่าตัดด้วยการฉีดยาชาดีกว่ามาก วันเดียวเอาอยู่ ปัจจุบัน นพ.วิบูลย์ให้การรักษาผู้ป่วยไส้เลื่อนด้วยวิธีการดังกล่าวมาตลอด และได้ถ่ายทอดวิธีการให้กับหลาย ๆ รพ. แต่ก็ยังมีการใช้ไม่แพร่หลายนัก เนื่องจากแพทย์ยังยึดติดกับการผ่าตัดรูปแบบเดิม

ขอบคุณข้อมูลจาก : สสส