จิตแพทย์แนะ 9 วิธี ต้านซึมเศร้า | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

จิตแพทย์แนะ 9 วิธี ต้านซึมเศร้า

Date : 7 October 2015

ปัญหาโรคซึมเศร้าถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทยที่มีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะในสังคมแต่ละวันเรามักจะเห็นข่าวปัญหาการฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายร่างกาย เกิดขึ้นบ่อยๆ
นพ.พิชัย อิฏฐสกุล จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายว่า โรคซึมเศร้าถือเป็นโรคทางด้านจิตเวชที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของเคมีในสมอง เช่นความผันผวนของระดับฮอร์โมนที่สำคัญ สืบทอดจากพ่อแม่สู่ลูก และเกิดจากปัจจัยด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่าปัจจัยทางอารมณ์ เป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางอารมณ์

หากเป็นภาวะซึมเศร้าในวัยเด็ก (Childhood Depression) อาจมีสาเหตุจากความตึงเครียดในครอบครัว เหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง หรือความคาดหวังทางการศึกษาเล่าเรียนที่สูงส่งเกินความสามารถของตน ภาวะซึมเศร้าในโรคประสาท (Neurotic depression) ซึ่งอาจพบร่องรอยว่าถูกบีบคั้นอย่างมากในวัยเด็ก แล้วปะทุออกมาในช่วงชีวิตภายหลัง ภาวะซึมเศร้าเพราะความชรา (Depression of age) เกิดเพราะความสามารถในการปรับตัวลดน้อยลง มีชีวิตโดดเดี่ยว ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยหรือปัญหาที่เรียกกันว่า ภาวะสะเทือนใจหลังเกษียณ (สูญเสียคุณค่าในตนไม่มีงาน ความรู้สึกว่าไร้สมรรถภาพ)

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงภาวะซึมเศร้าจากปฏิกิริยาทางใจ (Reactive depression) เช่น อาการซึมเศร้าภายหลังจากคู่แต่งงานเสียชีวิต ตกงาน หย่าร้าง ภาวะซึมเศร้าเพราะสภาพจิตใจอ่อนล้า (Depression of fatigue) เป็นการตอบสนองทางใจต่อสภาวะความเครียดเรื้อรัง เช่น ชีวิตสมรสมีปัญหาขัดแย้งไม่รู้จบ ความกดดันจากงานที่ต้องรับผิดชอบ การเปลี่ยนงาน ภาระมากเกินไป ภาวะซึมเศร้าชนิดนี้มักเกิดในหญิงซึ่งต้องรับภาระทั้งในครอบครัวและทำงานนอกบ้าน และในชายที่อยู่ในช่วงอายุ 50 – 60 ปี ซึ่งถูกกดดันจากการไม่อาจขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพการงานของตนได้

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า โดยมีหลัก 9 ข้อดังต่อไปนี้
1.อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงาน และปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป หรือรับผิดชอบมากเกินไป
2.แยกแยะปัญหาใหญ่ๆ ให้เป็นส่วนย่อยๆ พร้อมทั้งจัดเรียงความสำคัญก่อนหลังและลงมือทำเท่าที่สามารถทำได้
3.อย่าพยายามบังคับตนเอง หรือตั้งเป้ากับตนเองให้สูงเกินไป เพราะอาจไปเพิ่มความรู้สึกล้มเหลวในภายหลัง
4.พยายามทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับบุคคลอื่น ซึ่งดีกว่าอยู่เพียงลำพัง
5.เลือกทำกิจกรรมที่จะสร้างความรู้สึกที่ดีขึ้น หรือเพลิดเพลินและไม่หนักเกินไปเช่นการออกกำลังเบาๆ การชมภาพยนตร์ การร่วมทำกิจกรรมทางสังคม
6.อย่าตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมากๆ เช่น การลาออกจากงาน การแต่งงาน หรือ การหย่าร้าง โดยไม่ได้ปรึกษาผู้ใกล้ชิดที่รู้จักผู้ป่วยดี และ ต้องเป็นบุคคลที่สามารถพิจารณาเหตุการณ์นั้นอย่าง ที่ยงตรง มีความเป็นกลาง และ ปราศจากอคติที่เกิดจากอารมณ์มาบดบัง ถ้าเป็นไปได้ และ ดีที่สุด คือ เลื่อนการตัดสินใจออกไปจนกว่าภาวะโรคซึมเศร้าจะหายไปหรือดีขึ้น มากแล้ว
7.ไม่ควรตำหนิ หรือลงโทษตนเองที่ไม่สามารถทำ ได้อย่างที่ต้องการ เพราะ ไมใช่ความผิดของผู้ป่วย ควรทำเท่าที่ตนเองทำได้
8.อย่ายอมรับว่าความคิดในแง่ร้ายที่เกิดขึ้นในภาวะ ซึมเศร้าว่าเป็นส่วนหนึ่งที่แท้จริงของตนเองเพราะโดยแท้จริงแล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของโรค หรือ ความเจ็บป่วย และ สามารถหายไปได้เมื่อรักษา
9.ในขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลายเป็นคนที่ต้องการ ความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นแต่ก็อาจมีบุคคลรอบตัวๆ ที่ไม่เข้าใจในความเจ็บป่วยของผู้ป่วย และ อาจสนองตอบในทางตรงกันข้ามและกลายเป็น การซ้ำเติมโดยไม่ได้ตั้งใจ

ขอบคุณข้อมูลจาก : msn สุขภาพและฟิตเนส