เชื้อราในช่องคลอด | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

เชื้อราในช่องคลอด

Date : 18 January 2016

เมื่อมีอาการคันหรือมีตกขาวปริมาณมาก  สตรีมักจะนึกถึงการติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นสาเหตุแรกๆ  ทำให้ไปหาซื้อยามาใช้เอง  ใช้ครบบ้างไม่ครบบ้างจนเกิดเป็นปัญหาเรื้อรังขึ้นมา  อันที่จริงแล้วอาการคันและตกขาวเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งจากการติดเชื้อรา แบคทีเรีย หรือ ไวรัส  หรือแม้กระทั่งไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อเลย เช่น การตกขาวปกติร่วมกับความเป็นกรดของช่องคลอด  สิ่งแปลกปลอมที่ตกค้างในช่องคลอด เป็นต้น  ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อยามาใช้เอง ควรได้รับการประเมินจากสูติ-นรีแพทย์ก่อน โดยเฉพาะในการเป็นครั้งแรก ช่องทางของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงเป็นบริเวณที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีพของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียอื่นๆบางชนิด  การพบเชื้อดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าสตรีรายนั้นเป็นโรค  พบมากถึงร้อยละ 41 ของสตรีจะมีเชื้อราในช่องคลอดโดยไม่มีอาการ ทั้งนี้ขึ้นกับ อายุ เศรษฐฐานะ  ภูมิภาคที่อยู่อาศัย   เชื้อราชนิดที่สัมพันธ์กับการเกิดอาการช่องคลอดอักเสบจากเชื้อราส่วนใหญ่คือ เชื้อ Candida albicans  เพราะเป็นเชื้อที่สามารถยึดติดกับเซลล์เยื่อบุช่องคลอดได้ดี นอกจากนี้เชื้อ Candida ยังสามารถอยู่ในระบบทางเดินอาหารได้โดยไม่ก่ออาการอีกด้วย   โดยสามารถตรวจพบเชื้อรานี้ในอุจจาระของประชากรร้อยละ 65

          Candida albicans เป็นเชื้อรา ที่เมื่อย้อมสีแกรมจะติดสีน้ำเงิน   ปรากฏให้เห็นเป็นสองรูปแบบคือ ยีสต์และสายรายาว สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งบนพื้นผิวและในสารคัดหลั่งของร่างกาย โดยเมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเป็นรูปแบบยีสต์ที่มีการแตกหน่อ จำนวนมาก   ขณะที่เจริญแทรกเข้าไปในเนื้อเยื่อจะมีการเปลี่ยนรูปร่างเป็น เส้นใยที่มีและไม่มีผนังกั้น

 ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเชื้อราในช่องคลอด

การอักเสบในช่องคลอดจากเชื้อราพบได้น้อยในเด็กหญิงก่อนมีวัยประจำเดือน  และสตรีวัยหมดประจำเดือน  ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนคือ ปริมาณไกลโคเจนในสารน้ำในช่องคลอดและความชื้น  ดังนั้นภาวะนี้จึงพบได้มากในสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภูมิประเทศที่อาการร้อนและมีความชื้นสูง  ผู้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะต่อเนื่องเป็นเวลานาน  นอกจากนี้ยังพบบ่อยในผู้ที่มีการทำหน้าที่ของ T-cell เสื่อมลง ได้แก่ โรคเบาหวานที่คุมได้ไม่ดี ผู้ที่ต้องรับยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน  หรือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสภูมิต้านทานบกพร่อง ทำให้การกำจัดหรือการลดจำนวนของเชื้อราได้ช้าลง

 อาการและอาการแสดงของภาวะเชื้อราในช่องคลอด

อาการแสดงที่เด่นชัดที่สุดคือ อาการคัน  ซึ่งมักจะคันค่อนข้างมาก  อาการมักจะดีขึ้นเมื่อมีประจำเดือนเชื่อว่าเกิดจากความเป็นด่างของเลือดประจำเดือน  โดยอาการคันจะครอบคลุมบริเวณฝีเย็บด้วย  หากคันเฉพาะบริเวณแคมใหญ่ควรคิดถึงการติดเชื้อราที่ผิวหนัง หรือ การติดปรสิตบางชนิด  หากคันทั้งที่ในช่องคลอดและฝีเย็บอาจเกิดจากเชื้อ T.vaginalis, Human papilloma virus  โดยควรได้รับการตรวจแยกโรคที่สถานพยาบาล  อาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์หรือแสบเมื่อปัสสาวะโดนบริเวณอักเสบก็สามารถพบได้บ่อย  สำหรับอาการตกขาวจะไม่ชัดเจนในบางรายโดยหากมีตกขาวผู้ป่วยมักจะมีอาการคันนำมาก่อน 

การวินิจฉัยภาวะเชื้อราในช่องคลอด

การวินิจฉัยจะทำเมื่อผู้ป่วยมีอาการและอาการแสดงของช่องคลอดอักเสบร่วมกับผลการตรวจข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

            1) ตรวจตกขาว Wet smear (saline, 10% KOH) หรือ Gram stain พบ yeast, hyphae, หรือ pseudohyphae

            2) เพาะเชื้อหรือการตรวจอื่นแล้วพบยีสต์ชนิดใดชนิดหนึ่ง 

            โดยการตรวจเหล่านี้จำเป็นต้องทำโดยบุคลากรที่มีความชำนาญ  สำหรับการเป็นครั้งหลังๆ  ผู้ป่วยอาจลองซื้อยามาใช้เองได้  แต่จะต้องใช้อย่างถูกวิธีและครบตามจำนวน 

 การรักษาภาวะเชื้อราในช่องคลอด

1) ยาเฉพาะที่ ได้แก่ ยาทา หรือ ยาเหน็บ ยากลุ่มนี้ทั้งครีมและยาเหน็บเป็น Oil-based ควรระวังเมื่อใช้ร่วมกับ Latex condom   ยาทาเฉพาะที่อาจทำให้มีการระคายเคืองหรือแสบร้อนได้แต่จะไม่ทำให้แพ้ทั้งร่างกาย 

2) ยารับประทาน อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง หรือปวดศีรษะได้ สำหรับยารับประทานกลุ่ม Azole พบมีรายงานทำให้เมีเอนไซม์ตับสูงขึ้น ภาวะข้างเคียงจะพบมากขึ้นหากใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาบางชนิด เช่น Astemizole, Calcium channel antagonists, Cisapride, Cyclosporine A, Oral hypoglycemic agents, Phenytoin, Protease inhibitors, Tacrolimus, Terfenadine, Theophylline, Trimetrexate, Rifampin, และ Warfain

 สามีต้องรักษาด้วยหรือไม่

ภาวะนี้ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงยังไม่มีข้อสรุปให้รักษาในทุกราย  หากคู่นอนมีอาการก็ควรที่จะรักษาร่วมกันไปด้วย

ที่มา อาจารย์แพทย์หญิงเจนจิต  ฉายะจินดา

หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล