ไข้หรือตัวร้อน | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

ไข้หรือตัวร้อน

Date : 19 January 2016

          ไข้หรือตัวร้อน หมายถึง อุณหภูมิกายเพิ่มสูงกว่าปกติ หากเป็นอุณหภูมิที่วัดทางปากต้องสูงเกิน 37.2 ๐ซ เวลาที่มีไข้ไม่จำเป็นว่าทุกส่วนของร่างกายจะต้องร้อนเท่ากันหมด อาจร้อนที่ศีรษะ ลำตัว และแขนขา แต่ฝ่ามือฝ่าเท้าเย็น ในสังคมไทยมีความเชื่อที่สืบทอดมาแต่โบราณว่า การที่ศีรษะร้อนแต่เย็นที่ฝ่ามือฝ่าเท้าหมายถึงว่า ผู้ป่วยมีอาการหนัก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดและก่อความทุกข์ใจให้แก่คนเชื่อมาก สาเหตุของไข้มีมากมาย และระยะเวลาที่ไข้จะปรากฏในแต่ละโรคจะยาวนานต่างกัน เช่น 
          1. ไข้หวัดธรรมดา ผู้ป่วยจะมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ จาม คัดจมูก อาการไข้จะมีอยู่ ราว 3-4 วัน ก็หายไปหากไม่มีโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หูอักเสบ 
          2. ไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดเบ้าตา ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามแขนขา ไข้อาจสูงถึง 40๐ซ อาการไข้ปรากฏอยู่ 3-5 วัน และหายโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ 
          3. ไข้เลือดออก ไข้จะมีอยู่ 3-4 วัน ร่วมกับอาการซึม ใบหน้าแดง เบื่ออาหารอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดใต้ชายโครงข้างขวา บางคนจะมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจาระสีดำเหมือนน้ำมันดิน และอาจช๊อคในวันที่ 4 ของไข้ 
          4. ไข้ไทฟอยด์ ผู้ป่วยจะมีไข้ ซึม ถ่ายอุจจาระเหลว หรือท้องผูก หากไม่รักษาไข้จะปรากฏอยู่นาน 3 สัปดาห์ และมีโรคแทรกซ้อนทางลำไส้ ทำให้เกิดแผลที่ลำไส้มีเลือดออกหรือลำไส้ทะลุ ตับอักเสบ มีดีซ่าน อาจเกิดโรคแทรกซ้อนทางสมองและปวดอักเสบ 
          5. ปอดอักเสบหรือปอดบวม มักมีอาการของไข้หวัดนำมาก่อน 2-3 วัน ต่อมามีอาการไข้สูงขึ้น ไอมากขึ้น และหายใจเร็ว (อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น) หายใจหอบ (รูจมูกบาน ช่องซี่โครงบุ๋ม เป็นต้น) เบื่ออาหาร กินไม่ได้ โดยปกติผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือด ช่วยให้ได้น้ำและอาหารทดแทน ที่ได้ทางปากไม่เพียงพอ และอาจต้องให้ออกซิเจนเพื่อแก้ไขภาวะเลือดขาดออกซิเจน 
          จากตัวอย่างที่กล่าวมา ท่านจะเห็นว่า ไข้หรือตัวร้อนเป็นเพียงอาการของโรคอย่างหนึ่งเท่านั้น เมื่อท่านเข้าใจอย่างนี้แล้ว เมื่อบุตรของท่านมีไข้หรือตัวร้อนท่านจะได้ไม่วิตกเรื่องไข้ แต่ควรวิตกว่าโรคอะไรที่ทำให้บุตรของท่านมีไข้ หากมีสาเหตุจากไข้หวัดธรรมดา ท่านก็ไม่ควรวิตกเพราะปกติมักไม่มีโรคแทรกซ้อนใดๆ และไข้จะหายใน 3-4 วัน หากเกิดจากไข้ไทฟอยด์ ท่านก็ควรจะวิตกเพราะถ้ารักษาไม่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ มากมายและอาจถึงชีวิตได้

ยาลดไข้ 
            ยาลดไข้เป็นเพียงยาบรรเทา ไม่ใช่ยารักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ กล่าวคือ เมื่อกินยา 1 ครั้ง ยาจะออกฤทธิ์ ลดไข้อยู่ได้นาน 4-6 ชั่วโมง หากสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ยังไม่หาย เมื่อยาหมดฤทธิ์แล้วไข้ก็จะปรากฏใหม่ ท่านก็ค่อยให้ยาใหม่ หากบุตรของท่านมีไข้ไม่สูง มีเพียงศีรษะอุ่น ไม่กระวนกระวาย ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาลดไข้ เพราะยาลดไข้เป็นเพียงยาระงับหรือบรรเทาไข้ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

ยาลดไข้ไม่ใช่ยาที่ปราศจากโทษ ยาที่นิยมใช้ได้แก่ 
          1. แอสไพริน หากกินมากเกินขนาด ทำให้มีไข้สูง ซึม ชักและถึงตายได้ 
          2. พาราเซทามอล ขนาดสูง ทำให้ตับถูกทำลาย และตายจากตับล้มเหลว 
            ฉะนั้น ท่านจึงควรให้ยาลดไข้เมื่อไข้สูงเท่านั้น และให้ในขนาดที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว ห้ามให้ถี่กว่า 4 ชั่วโมง หากให้ยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ควรให้เด็กดื่มนำมากๆ ร่วมกับการเช็ดตัวด้วยน้ำประปาจนกว่าไข้จะลด ท่านไม่จำเป็นต้องพาเด็กไปพบแพทย์ทันทีของการมีไข้ หากเด็กยังเล่นได้ ดูทีวีได้ ท่านเพียงให้ยาลดไข้ เป็นครั้งเป็นคราว แต่ถ้าภายใน 2-3 วันอาการไข้ยังไม่ทุเลาจึงพาไปพบแพทย์ เพราะไข้จะหายเองเมื่อถึงกำหนดระยะของโรค แม้ไปพบแพทย์ก็ไม่ได้ช่วยให้หายไข้เร็วขึ้น 
            ขณะมีไข้สูง เด็กมักกินอาหารได้น้อยลง ทำให้มีกากอาหารในลำไส้น้อย มีผลทำให้ไม่ถ่ายอุจจาระ ในสังคมไทยมีความเชื่อว่า หากเด็กไม่ถ่ายอุจจาระจะทำให้ไข้ยิ่งสูง ความเชื่อนี้ต้องการการแก้ไข ท่านไม่ควรใช้วิธีการใดๆ ทำให้เด็กถ่าย เพราะการไม่ถ่ายเกิดจาก การกินอาหารน้อยลง การกินยาระบายหรือการเหน็บยาอาจมีอันตรายหากสาเหตุของไข้เกิดจาก ไข้ไทฟอยด์หรือไส้ติ่งอักเสบ เพราะทำให้ลำไส้แตกทะลุได้

อาการแทรกซ้อน 
            อาการแทรกซ้อนของไข้ที่ต้องระวังคือ การชักจากไข้สูง ซึ่งพบในช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 6 ปี เด็กที่เคยชักเวลามีไข้สูงหรือพ่อ แม่ พี่ๆ มีประวัติชักเมื่อไข้สูง ต้องระวังการมีไข้เป็นพิเศษ โดยเช็คตัวและให้ยาลดไข้เพื่อป้องกันไม่ให้ไข้สูง


ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล