ตั้งเป้าลดผู้ป่วย "โรคหืด - ปอดอุดกั้นเรื้อรัง" | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

ตั้งเป้าลดผู้ป่วย "โรคหืด - ปอดอุดกั้นเรื้อรัง"

Date : 25 February 2016

เครือข่ายคลินิกโรคหืดแบบง่ายตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล นี้ คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล และมลพิษทางอากาศต่าง ๆ เช่น ฝุ่นละออง หรือควันจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี รวมไปถึงการดำเนินชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป

เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกอาจสูงถึง 325 ล้านคน และจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนมากมาจากประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งในความเป็นจริง หลายเคสสามารถป้องกันได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคหืดประมาณร้อยละ 5-10 ของประชากร พบในเด็กร้อยละ 10 ส่วนผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีประมาณร้อยละ 3 ของประชากร และถึงแม้ว่าทั้งสองโรคจะสามารถรักษาได้ แต่ปัจจุบันยังมีอัตราการเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินและการเข้านอนรักษาในโรงพยาบาลที่สูงอยู่ โดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีอัตราการเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินและการเข้านอนรักษาในโรงพยาบาลเป็นแสนรายต่อปี

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย กล่าวว่า "เป้าหมายของเราคืออยากให้ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินและการเข้านอนรักษาในโรงพยาบาล" แต่ปัญหาที่พบก็คือผู้ป่วยไม่เข้าใจ จะมารักษาก็ต่อเมื่อมีอาการ อย่างโรคหืดก็สามารถรักษาให้โรคสงบลงได้ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของหลอดลม แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักใช้การพ่นยาเพื่อการรักษาที่ปลายทาง แต่จริง ๆ แล้วสามารถรักษาได้ตั้งแต่ต้นเหตุ ขณะที่โรคปอดอักเสบเกิดจากการสูบบุหรี่และมลพิษ เดิมรักษาไม่ได้ แต่ปัจจุบันสามารถรักษาได้ ที่สำคัญคือการรณรงค์ให้งดสูบบุหรี่

เครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย คือ ความพยายามที่จะผลักดันแผนงานการรักษาโรคหืดจากโรงพยาบาลชุมชนเข้าไปให้ถึงระดับตำบล และผลักดันต่อไปถึงชุมชน ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาล

นพ.อัครพล คุรุศาสตรา เลขานุการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เขตสุขภาพที่ 10 กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข และสปสช. ได้ร่วมมือกันสนับสนุนการจัดระบบเครือข่ายบริการสุขภาพระดับเขตให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้นการจัดการปัญหาโรคหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะได้รับการสนับสนุนทั้งในระดับนโยบายและการดำเนินงานพื้นที่มากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการเริ่มต้นของการทำงานร่วมทั้ง 3 ฝ่ายหลัก คือด้านนโยบายที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ ด้านวิชาการและผู้ให้บริการคือเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย

สปสช.ที่รับผิดชอบดูแลด้านงบบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การจับมือกันร่วมทำงานเช่นนี้จะช่วยให้การกำหนดเป้าหมายทิศทางการดำเนินการจัดระบบบริการดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น” ปัจจุบันเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่ายครอบคลุมโรงพยาบาลอำเภอครบทั้งหมดแล้วคาดว่าจะครอบคลุมโรงพยาบาลประจำตำบลได้ครบในอีกไม่ช้า ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี เครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย มีโอกาสช่วยให้ผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังในหลายภูมิภาค สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สามารถลดอัตราการกำเริบของโรคอย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและนอนในโรงพยาบาลลดลงกว่า 29% เครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย ตั้งเป้าลดอัตราการครองเตียงของผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังให้เหลือศูนย์ (Admission Rate Near Zero)

“เครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่ายเป็นเหมือนแฟรนไชส์ มีคู่มือ มีการอบรมเพื่อให้บุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่มีอยู่ตามโรงพยาบาลทั่วไป ที่ถึงแม้จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก็สามารถรักษาผู้ป่วยได้เหมือนกับผู้เชี่ยวชาญ แม้ว่าคลินิกจะใช้ชื่อแบบง่าย ๆ แต่การรักษาไม่ได้ทำแบบชุ่ย ๆ รับประกันว่าได้มาตรฐานสากลแน่นอน” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วัชรา บุญสวัสดิ์ กล่าวสรุป
 
 
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์