สารพัดโรคตาที่มากับวัย | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

สารพัดโรคตาที่มากับวัย

Date : 27 June 2016

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนเราเป็นอย่างมาก หากตาบอด ก็ส่งผลให้เราใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น และเมื่ออายุยิ่งมากขึ้น อวัยวะหลาย ๆ อย่างในร่างกายเริ่มเสื่อมสมรรถภาพลง รวมถึงดวงตาด้วย ส่วนจะมีโรคอะไรบ้าง เป็นแล้วมีอาการอย่างไร รักษาได้หรือไม่ และเราควรดูแลตัวเองอย่างไรนั้น

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร มีข้อมูลและคำแนะนำดี ๆ มาฝาก เริ่มด้วยโรคฮอตฮิตที่มาพร้อมกับอายุที่เพิ่มขึ้น ที่คุณหมอพรเทพบอกว่า เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป

สิ่งแรกที่มีโอกาสเกิดคือ ภาวะสายตาสูงอายุ ซึ่งเป็นคนละโรคกับสายตายาว โดยภาวะสายตาสูงอายุจะมีอาการคือ เมื่ออ่านหนังสือ ต้องเขยิบหนังสือออกไปจากตัวมากขึ้น หรือต้องการแสงสว่างในการอ่านหนังสือมากขึ้น วิธีแก้ปัญหาคือต้องใส่แว่นสายตาสูงอายุ และควรเปลี่ยนแว่นทุก 2-4 ปี เพราะสายตามีการเปลี่ยนแปลง

ส่วนโรคที่ 2 ที่มักเจอในผู้สูงวัย คือ โรคตาแห้ง มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงบางอย่างอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในวัยทอง ที่ฮิร์โมนจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และฮอร์โมนบางอย่างอาจะส่งผลกระทบต่อดวงตาได้ ซึ่งวิธีแก้ไขนั้น คุณหมอแนะนำว่า ง่ายสุดคือใช้น้ำตาเทียมหยอดตา แต่หากจะให้ดีให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นมาประคบเปลือกตาสัก 10 นาที ทำวันละ 3 ครั้ง หรืออาจจะใช้ไข่ต้มมาประคบก็ได้ เพราะสำคัญคือต้องการใช้ความร้อนมากระตุ้นไขมันที่ตาให้มาเคลือบกระจกตา นอกจากนี้ ควรใส่แว่นกันแดดใหญ่ ๆ เพื่อกันแดด กันลม และกันรังสี UV ด้วย

ขณะที่โรคที่ 3 เป็นโรคที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนตาบอด และเป็นโรคที่มาพร้อมกับคำว่าสูงวัยจริง ๆ โรคนั้นคือ โรคต้อกระจก นั่นเอง ที่คุณหมอพรเทพบอกว่า เหตุที่ทำให้โรคต้อกระจกเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนตาบอดก็เพราะว่าโรคนี้ทุกคนต้องเป็น เนื่องจากเป็นความเสื่อมของเลนส์ตาที่พอเราแก่ตัวลง เลนส์ตาก็จะเริ่มขุ่นขึ้น จนทึบ เมื่อทิ้งไว้นานขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้มองไม่เห็นในที่สุด โดยวิธีการรักษานั้นจะใช้การผ่าตัดสลายต้อกระจก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียม ที่มีอายุการใช้งานถึง 50 ปี

โรคถัดมาที่เมื่อก่อนอาจยังพบไม่มากเท่าไหร่นักในประเทศไทย แต่ปัจจุบันเริ่มพบได้มากขึ้น โรคนั้นก็คือ โรคต้อหิน ที่เกิดจากการทำลายเยื่อประสาทตาอย่างถาวร ทำให้เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้ น่ากลัวไปกว่านั้นคือ หากเป็นในระเริ่มต้นจะไม่มีอาการ จะพบอาการตามัวเมื่อเป็นระยะท้าย ๆ แล้ว ทำให้การรักษาอายจทำได้ไม่ค่อยดีนัก ส่วนจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้ คุณหมอบอกว่า ให้ดูประวัติครอบครัวว่าเคยมีใครในครอบครัวเป็นต้อหินหรือไม่ ซึ่งอาจจะตรวจสอบได้ยากพอสมควร คำแนะนำคือเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรไปตรวจวินิจฉัยต้อหินทุกปี หากพบโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ จะรักษาง่าย ด้วยการหยอดตาตลอดชีวิต

ขณะที่ในไทย สาเหตุที่ทำให้ตาบอดนั้นมาจากโรคต้อกระจก แต่สำหรับสหรัฐอเมริกา สาเหตุที่ทำให้ตาบอดมากที่สุดนั้นมาจากโรคจุดศูนย์กลางของจอประสาทตาเสื่อม พบในคนอายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งเกิดขึ้นในบางคน แต่ระยะหลังมา ในประเทศไทยเริ่มพบมากขึ้น ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ยังไม่แน่ชัด แต่ปัจจัยหนึ่งมาจากการสูบบุหรี่ ปัจจัยที่ 2 คือแสงแดด แสง UV ส่วนปัจจัยอื่นที่มีพูดถึงกันมากคือแสงสีฟ้า (blue light) แต่ยังไม่มีการทดลองในคน พบเพียงงานวิจัยในสัตว์ทดลองเท่านั้น

โดยโรคจุดศูนย์กลางของจอประสาทตาเสื่อมนั้น ผลการวิจัยบอกว่าหากเจอตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถป้องกันได้ถึง 94.6% แต่คนไข้ก็มักจะไปหาหมอก็ตอนที่สายตามองไม่เห็นแล้ว ทำให้รักษาได้ไม่ทันท่วงที ส่วนวิธีเช็คง่าย ๆ ว่าเราเป็นหรือไม่ คุณหมอพรเทพแนะว่า ให้ใช้มือปิดตาข้างหนึ่ง แล้วมองไปที่เส้นตรงในบ้าน เช่น ขอบประตู แล้วดูว่าขอบเส้นตรงนั้นเบี้ยวหรือไม่ ถ้าเห็นว่าเริ่มเบี้ยว ให้รีบไปพบจักษุแพทย์ทันที

นอกจากนี้ ในยุคปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น โดยเฉพาะวัยสูงวัยที่นิยมเล่นไลน์ หรือเฟซบุ๊ก ทำให้ต้องใช้สายตาเยอะ คุณหมอจึงแนะนำ ดังนี้

1.เวลาเล่นโซเชียลมีเดีย จะเป็นการอ่านอะไรในระยะใกล้ เพราะต้องโฟกัสในภาพเล็ก ๆ จึงควรใช้แว่นผู้สูงอายุขณะใช้งานสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต

2.เมื่อจ้องมาก ๆ เราจะลืมกะพริบตา ทำให้ตาแห้งได้ จึงควรกะพริบตาบ่อย ๆ

3.เมื่อมองใกล้นาน ๆ ตาเราจะยึดโฟกัสแค่ที่เดียวเป็นเวลานาน จึงควรพักสายตาบ้าง โดยอาจเล่นโซเชียล 2 ชั่วโมง พักสายตา 15 นาที ด้วยการมองไปที่ไกล ๆ ให้ดวงตาเลิกจากการมองใกล้ เพื่อให้เลนส์ตาได้ผ่อนคลาย ส่วนแสงสีฟ้าที่มาพร้อมกับอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้น มีงานวิจัยพบว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เราล้าสายตาได้ง่าย จึงควรติดฟิล์มบางอย่างที่สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เพื่อกรองแสง แต่หากจะให้ดีที่สุดคือ อย่าใช้อะไรนานเกินไป ควรใช้แต่พอดีก็พอ

คุณหมอทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันคนเราอยู่กับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น จึงอยากให้ตระหนัก และอย่ามองว่าตาเป็นเรื่องเล็ก ๆ อย่าคิดว่าตามัวเป็นแค่ความชราที่มาเยือน แนะนำให้ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ไปตรวจตาปีละครั้ง แต่คนที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน อาจจะต้องตรวจบ่อยกว่า เพื่อให้รู้ทันโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ และรักษาได้อย่างทันท่วงที

ขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจและ สสส